เข้าสู่ช่วงเวลาสำคัญของปีอีกครั้งที่ผู้มีรายได้ทุกคนจะต้องเตรียมความพร้อมสำหรับการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ไม่ว่าจะเป็น ภ.ง.ด.90 สำหรับผู้มีรายได้หลากหลายช่องทาง หรือ ภ.ง.ด.91 สำหรับผู้ที่มีรายได้จากเงินเดือนเพียงอย่างเดียว และสำหรับในปี 2567 นี้ การยื่นภาษีออนไลน์ ภ.ง.ด.90 และ ภ.ง.ด.91 ก็ยังคงเป็นวิธีที่สะดวกและรวดเร็ว ซึ่งจะช่วยให้ผู้เสียภาษีสามารถดำเนินการได้ทุกที่ ทุกเวลา โดยไม่ต้องเดินทางไปถึงสำนักงานสรรพากรเหมือนในอดีต และในบทความนี้เราจะขอพาคุณไปทำความรู้จักกับขั้นตอนการยื่นภาษีออนไลน์อย่างละเอียด พร้อมกับข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวกับการยื่นภาษีออนไลน์ ภ.ง.ด.90 และ ภ.ง.ด.91 ปี 2567
ใครบ้างที่ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด. 90 และ ภ.ง.ด. 91 ?
สำหรับผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คือ ผู้ที่มีเงินได้เกิดขึ้นระหว่างปีที่ผ่านมา โดยมีสถานะอย่างหนึ่งอย่างใด ดังนี้
- บุคคลธรรมดา
- ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล
- ผู้ถึงแก่ความตายระหว่างปีภาษี
- กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง
- วิสาหกิจชุมชน ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน เฉพาะที่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล
ทั้งนี้บุคคลธรรมดาจะถูกแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบในการแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คือ...
ภ.ง.ด.90
แบบ ภ.ง.ด. 90 คือ แบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) ถึง (8) หลายประเภท ดังนี้
- เงินเดือน (เงินได้ประเภทที่ 1)
- ค่าจ้างทั่วไปตามตำแหน่งงานที่ทำ (เงินได้ประเภทที่ 2)
- ค่าลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญา (เงินได้ประเภทที่ 3)
- ดอกเบี้ย เงินปันผล ผลประโยชน์จากการลงทุน (เงินได้ประเภทที่ 4)
- ค่าเช่า (เงินได้ประเภทที่ 5)
- ค่าวิชาชีพอิสระ (เงินได้ประเภทที่ 6)
- ค่ารับเหมาทั้งค่าแรงและค่าของ (เงินได้ประเภทที่ 7)
- เงินได้อื่น ๆ นอกจากที่ระบุไว้ในประเภทที่ 1 ถึงประเภทที่ 7 แล้ว (เงินได้ประเภทที่ 8)
หรือพูดแบบง่าย ๆ เลยก็คือ ผู้ที่มีรายได้นอกเหนือจากเงินเดือนที่ได้รับ เช่น ค้าขายแบบบุคคลธรรมดา เงินปันผล หรืออื่น ๆ
ภ.ง.ด.91
แบบ ภ.ง.ด.91 คือ แบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) ประเภทเดียว ที่ได้จากการจ้างงาน หรือสรุปก็คือ...พนักงานบริษัทที่รับเงินค่าจ้างเพียงอย่างเดียว
ยื่นภาษีออนไลน์ ภ.ง.ด.90 และ ภ.ง.ด.91 ได้ที่ไหน ?
คุณสามารถยื่นภาษีออนไลน์ ภ.ง.ด.90 และ ภ.ง.ด.91 ได้ที่เว็บไซต์ของกรมสรรพากรได้โดยตรง www.rd.go.th
เอกสารที่ต้องใช้ยื่น ภ.ง.ด.90 และ ภ.ง.ด.91
ภ.ง.ด. 90
- หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (50 ทวิ)
- หลักฐานรายได้จากแหล่งอื่น ๆ (เช่น การขายอสังหาริมทรัพย์, การลงทุน ฯลฯ)
- หลักฐานค่าลดหย่อน เช่น ใบเสร็จค่าประกันชีวิต/ประกันสุขภาพ, หลักฐานการบริจาคเงิน, ใบเสร็จชำระดอกเบี้ยเงินกู้ที่อยู่อาศัย เป็นต้น
ภ.ง.ด. 91
- หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (50 ทวิ) ที่นายจ้างออกให้เพื่อแสดงรายได้และภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายไว้ตลอดปี
- หลักฐานค่าลดหย่อน เช่น ใบเสร็จค่าประกันชีวิต/ประกันสุขภาพ, ใบเสร็จรับเงินค่าบริจาค, หลักฐานกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ RMF เป็นต้น
ตารางการเสียภาษี
เงินได้สุทธิต่อปี
|
อัตราภาษีเงินได้
|
0 – 150,000 บาท
|
ยกเว้นภาษี
|
150,000 – 300,000 บาท
|
5%
|
300,001 – 500,000 บาท
|
10%
|
500,001 – 750,000 บาท
|
15%
|
750,001 – 1,000,000 บาท
|
20%
|
1,000,001 – 2,000,000 บาท
|
25%
|
2,000,001 – 5,000,000 บาท
|
30%
|
5,000,001 ขึ้นไป
|
35%
|
ขั้นตอนการยื่นภาษีออนไลน์ ภ.ง.ด. 90 และ ภ.ง.ด. 91
1. เข้าสู่ระบบเว็บไซต์กรมสรรพากร
ไปที่เว็บไซต์ : กรมสรรพากร
- หากยังไม่มีบัญชี ให้ลงทะเบียนสร้างบัญชีใหม่โดยใช้เลขบัตรประชาชนและข้อมูลส่วนตัว
- หากมีบัญชีแล้ว ให้เข้าสู่ระบบโดยกรอกชื่อผู้ใช้และรหัสผ่าน
2. เลือกประเภทแบบฟอร์มการยื่นภาษี
- คลิกที่เมนู “ยื่นแบบ”
- เลือกแบบฟอร์ม ภ.ง.ด. 90 หรือ ภ.ง.ด. 91 ตามประเภทของรายได้
3. กรอกข้อมูลรายได้และค่าลดหย่อน
กรอกข้อมูลรายได้
- กรอกข้อมูลตามหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (50 ทวิ)
- หากมีรายได้จากแหล่งอื่น ๆ เช่น รายได้ธุรกิจ หรือดอกเบี้ย ให้กรอกเพิ่มในช่องที่กำหนด (สำหรับ ภ.ง.ด. 90)
กรอกข้อมูลค่าลดหย่อนและสิทธิประโยชน์ทางภาษี
- กรอกข้อมูลค่าลดหย่อนต่าง ๆ อาทิ ค่าลดหย่อนส่วนตัว, ค่าลดหย่อนคู่สมรส - บุตร, ค่าลดหย่อนจากการซื้อประกันชีวิต, ประกันสุขภาพ, กองทุน RMF, ค่าลดหย่อนจากการบริจาคหรือดอกเบี้ยเงินกู้ที่อยู่อาศัย เป็นต้น
4. ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล
- ตรวจสอบข้อมูลรายได้และค่าลดหย่อนทั้งหมดให้ถูกต้อง
- ระบบจะแสดงยอดภาษีที่ต้องชำระเพิ่มเติมหรือยอดคืนภาษี
5. ยืนยันการยื่นแบบและรับเอกสารอ้างอิง
- เมื่อยืนยันการยื่นแบบแล้ว ระบบจะออกเลขที่อ้างอิงการยื่นแบบ
- พิมพ์หรือบันทึกเอกสารยืนยันการยื่นแบบเก็บไว้
6. การชำระภาษี (หากมียอดต้องชำระ)
เลือกวิธีการชำระภาษี เช่น
- ชำระผ่านธนาคารออนไลน์ (Internet Banking)
- ชำระผ่านบัตรเครดิต/บัตรเดบิต
- พิมพ์ใบแจ้งชำระเงินไปชำระที่เคาน์เตอร์ธนาคารหรือตู้ ATM
เด็กจบใหม่ทำงานไม่ถึงปี ต้องยื่นภาษีไหม ?
สำหรับเด็กจบใหม่ที่ทำงานยังไม่ถึงปี ก็จำเป็นที่จะต้องยื่น ภ.ง.ด.90 หรือ ภ.ง.ด.91 เพราะการยื่นภาษีเป็นเรื่องของรายได้โดยตรง ไม่เกี่ยวกับอายุหรือระยะเวลาในการทำงาน
หากย้ายงานระหว่างปี จะต้องยื่นภาษีอย่างไร ?
หากใครที่มีการย้ายที่ทำงานระหว่างปี ก็ให้คุณนำรายได้ที่ได้รับจากทั้งบริษัทเก่าและบริษัทใหม่ เงินสมทบประกันสังคม ค่าภาษีหัก ณ ที่จ่าย(หากมี) มารวมกันและยื่นภาษีตามปกติได้เลย ส่วนหมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษี (นายจ้างหรือบริษัท) ให้เลือกกรอกหมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของบริษัทที่จ่ายเงินให้เราสูงที่สุดในปีนั้น ๆ
หากยื่นภาษีส่วนบุคคลไม่ทัน จะทำอย่างไร ?
หากยื่นภาษีไม่ทันในระยะเวลาที่กำหนด คุณจำเป็นจะต้องนำเอกสารยื่นภาษีไปยื่นเองที่สำนักงานสรรพากรใกล้บ้าน และจะมีโทษเกี่ยวกับการยื่นภาษีล่าช้าและจงใจหลบเลี่ยงภาษีดังนี้
- กรณีไม่ยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.90, 91 ภายในกำหนดเวลา ต้องระวางโทษปรับทางอาญาไม่เกิน 2,000 บาท
- กรณีจงใจ แจ้งข้อความเท็จ หรือแสดงหลักฐานเท็จหรือฉ้อโกง เพื่อหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือนถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 บาท ถึง 200,000 บาท
- กรณีเจตนาละเลยไม่ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร มีโทษปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ
รายละเอียดทั้งหมดข้างต้นเป็นข้อมูลเกี่ยวกับการยื่นภาษีออนไลน์ ภ.ง.ด.90 และ ภ.ง.ด.91 ที่ผู้มีรายได้จำเป็นจะต้องยื่นในทุก ๆ ปี ทั้งนี้ทีมงาน Propertyhub ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อมูลต่าง ๆ ข้างต้น จะช่วยให้คุณสามารถจัดเตรียมเอกสารต่าง ๆ และรู้ขั้นตอนในการยื่นภาษีออนไลน์ ภ.ง.ด. 90 และ ภ.ง.ด. 91 ได้ละเอียดมากยิ่งขึ้น และสำหรับใครที่ต้องการปล่อยเช่า/ขายคอนโด บ้าน หรืออสังหาฯ ทุกรูปแบบ คุณก็สามารถมาลงประกาศฟรี ได้ที่ Propertyhub เว็บไซต์ที่รวบรวมประกาศปล่อยเช่า/ขาย ที่ใช้งานง่ายมากที่สุด