ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในยุคปัจจุบันนี้ผู้คนได้หันมาใส่ใจในเรื่องของการดูแลรักษาสุขภาพกันมากยิ่งขึ้น หรือเรียกง่าย ๆ ว่า เทรนด์การดูแลสุขภาพกำลังมาแรง ส่งผลให้หลาย ๆ คน หันมาเลือกกินอาหารที่ดี เลือกการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับ Lifestyle เพื่อให้สุขภาพของตนดีขึ้นตามวัยที่ควรจะเป็น และก็แน่นอนว่าเรื่องการนอนหลับพักผ่อน ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ผู้คนหันมาให้ความสนใจกันเป็นจำนวนมาก ว่าควรจะนอนอย่างไรให้สุขภาพดีขึ้น ? เพราะหากเป็นในเมื่อก่อนก็คงจะเป็นเพียงแค่ทฤษฎีที่บอกเราว่าให้นอนครบ 6 - 8 ชั่วโมง ก็เพียงพอแล้ว แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปมีงานวิจัยต่าง ๆ ออกมามากมาย ซึ่งก็ทำให้เราได้ยินคำว่า “REM Sleep” กันอยู่บ่อย ๆ แต่คุณเคยสงสัยไหมว่า REM Sleep คืออะไร ? ทำไมถึงจะช่วยทำให้เรามีสุขภาพการนอนที่ดีขึ้น ? ซึ่งในวันนี้เราจะพาคุณไปทำความรู้จักกับ REM Sleep กัน
ทำความรู้จักกับ REM Sleep
อันดับแรกก่อนที่เราจะไปทำความรู้จักกับ REM Sleep คุณจำเป็นที่จะต้องทำความรู้จักกับ NREM Sleep เสียก่อน เพราะไม่ว่าจะเป็น REM Sleep หรือ NREM Sleep ต่างก็เป็น ช่วงเวลาการนอนหลับที่สำคัญทั้ง 2 ช่วง โดยเราไปเริ่มกันที่...
NREM Sleep คืออะไร ?
NREM Sleep ย่อมาจาก NON-REM sleep คือ ช่วงที่คุณหลับปกติ ดวงตาจะไม่ขยับ คลื่นสมองทำงานช้าลง(มาก) โดยช่วงเวลาการนอนหลับแบบ NREM Sleep จะถูกแบ่งออกเป็น 3 ระยะด้วยกัน ซึ่งในแต่ละระยะจะส่งผลต่อร่างกายที่แตกต่างกันออกไปดังนี้
- ระยะที่ 1 : เป็นระยะที่กึ่งหลับกึ่งตื่น ซึ่งจะใช้ระยะเวลาประมาณ 1 - 5 นาที โดยสมองของเราจะทำงานช้าลงและเมื่อถูกปลุกจะรู้สึกตื่นง่าย ไม่ค่อยงัวเงียหรือเรียกง่าย ๆ ว่ายังไม่หลับลึก และถ้าหากไม่มีสิ่งใดมารบกวนก็จะทำให้คุณเข้าสู่ช่วงการนอนในระยะที่ 2 ได้อย่างรวดเร็ว
- ระยะที่ 2 : เป็นระยะเคลิ้มหลับ การเต้นของหัวใจและการทำงานของสมองจะช้าลง ซึ่งการนอนในระยะนี้จะช่วยกระตุ้นความจำระยะสั้นและสามารถเพิ่มสมาธิได้เป็นอย่างดี เหมาะแก่การงีบหลับพักสายตา ทั้งนี้ระยะการนอนที่ 2 จะอยู่ได้นานประมาณ 10 - 25 นาที ก่อนจะเข้าสู่ระยะที่ 3
- ระยะที่ 3 : เป็นระยะเวลาหลับลึก ร่างกายจะไม่ตอบสนองต่อสิ่งเร้าใด ๆ ทั้งสิ้น กล้ามเนื้อจะผ่อนคลายขั้นสุด การเต้นของหัวใจจะช้าลงมาก ๆ และจะไม่มีการฝันใด ๆ ซึ่งระยะการนอนในช่วงนี้ร่างกายของเราจะหลั่ง Growth Hormone ออกมา และถ้าหากถูกปลูกจะรู้สึกง่วงหรืองัวเงียเป็นอย่างมาก
REM Sleep คืออะไร ?
REM Sleep ย่อมาจาก Rapid Eye Movement Sleep คือ ช่วงหนึ่งของการนอนหลับที่จะเกิดขึ้นประมาณ 90 นาที หลังจากที่เราหลับลึก (จะเกิดขึ้นเมื่อเราผ่านช่วง NREM Sleep ทั้ง 3 ช่วงข้างต้นมาแล้ว) ซึ่ง REM Sleep จะเป็นช่วงที่กล้ามเนื้อต่าง ๆ จะหยุดการทำงานแต่สมองจะตื่นตัวพร้อมกับทำงานอย่างกระฉับกระเฉง ทั้งนี้ดวงตาของคุณจะเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วภายใต้เปลือกตาในขณะที่นอนหลับ โดยการหลับในช่วงนี้จะมีการฝันมากกว่าช่วงอื่น ๆ อีกทั้งการนอนหลับในช่วง REM Sleep ยังจะช่วยในเรื่องของความจำ การเรียนรู้ อารมณ์และการสร้างจินตนาการอีกด้วย
ลักษณะร่างกายเมื่อเข้าสู่ระยะ REM Sleep
หากเป็น NREM Sleep ในช่วงระยะที่ 3 ร่างกายของคุณจะนิ่งสนิทหรือเรียกง่าย ๆ ว่าหลับลึก แต่เมื่อไหร่ที่ร่างกายของคุณเข้าสู่ระยะ REM Sleep จากที่นอนนิ่ง ๆ ก็จะเริ่มมีปฏิกิริยาแสดงออกมาโดยที่คุณไม่รู้ตัว อาทิ
- การกระตุกของร่างกาย เช่น แขน ขา
- มีการหายใจที่เร็วขึ้น
- ดวงตาจะมีการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วภายใต้เปลือกตา
- ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น
- อุณหภูมิของร่างกายเปลี่ยนไป
- มีการฝันในเรื่องต่าง ๆ
REM Sleep สำคัญอย่างไร ?
REM Sleep มีความสำคัญอย่างมากต่อสุขภาพทั้งทางกายและจิตใจ โดยมีความสำคัญในหลาย ๆ ด้าน ดังนี้
- ฟื้นฟูสมองและการทำงานของสมอง : ในช่วง REM Sleep สมองจะตื่นตัว ซึ่งจะช่วยในกระบวนการจัดระเบียบและประมวลผลข้อมูลที่ได้รับระหว่างวัน การพักผ่อนในช่วงนี้มีส่วนช่วยพัฒนาความจำระยะยาว การเรียนรู้ และความคิดสร้างสรรค์
- เสริมสร้างความจำและการเรียนรู้ : REM Sleep ช่วยในการเก็บข้อมูลที่สำคัญและทบทวนประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในระหว่างวัน โดยช่วยเสริมความจำในการเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ (จำเป็นมากสำหรับวัยเด็ก)
- ปรับสมดุลอารมณ์ : การนอนหลับที่มีช่วงระยะ REM Sleep เพียงพอ จะช่วยลดความเครียดและความวิตกกังวล ทำให้สมองสามารถจัดการกับอารมณ์ได้ดีขึ้น ซึ่งช่วยลดโอกาสในการเกิดภาวะซึมเศร้าและปัญหาทางอารมณ์
- การฟื้นฟูร่างกาย : แม้ว่าการฟื้นฟูทางกายจะเกิดมากในช่วง Non-REM Sleep แต่ REM Sleep ก็มีบทบาทในการฟื้นฟูสมองและระบบประสาท ทำให้คุณรู้สึกนอนเต็มอิ่มและพร้อมออกไปใช้ชีวิตในเช้าวันใหม่
- ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ : การนอนหลับในระยะ REM Sleep จะช่วยกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์และการแก้ปัญหาโดยสมองจะทำการเชื่อมโยงข้อมูลต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ส่งผลให้เราสามารถคิดนอกกรอบและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ได้ดีมากยิ่งขึ้น
หากร่างกายนอนไม่ถึงช่วง REM Sleep จะเป็นอย่างไร ?
หากร่างกายของเรานอนไม่ถึงช่วง REM Sleep ก็จะส่งผลกระทบต่อสมองและอารมณ์โดยตรง ไม่ว่าจะเป็น ความจำแย่ลง การประมวลผลช้าลง ความสามารถในการคิดสร้างสรรค์และการแก้ไขปัญหาแย่ลง อารมณ์แปรปรวนง่าย ขี้หงุดหงิด และยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้าและความเครียด รวมไปถึงร่างกายจะรู้สึกอ่อนเพลีย ไม่กระปรี้กระเปร่า ซึ่งก็แน่นอนว่ามันจะทำให้สุขภาพจิตและสุขภาพกายของคุณมีปัญหาตามมาอย่างแน่นอน
: ง่วงแต่ทำไมถึงนอนไม่หลับทำยังไงดี ? บทความดี ๆ ที่ชาวคอนโดควรรู้
ทริคง่าย ๆ ที่จะช่วยทำให้คุณเข้าสู่การนอนในระยะ REM Sleep
- สร้างตารางการนอนที่สม่ำเสมอ : เข้านอนและตื่นในเวลาเดียวกันทุกวัน ช่วยปรับนาฬิกาชีวิตให้สมดุล ซึ่งจะส่งผลให้ร่างกายเข้าสู่ REM Sleep ได้ดีขึ้น
- หลีกเลี่ยงคาเฟอีนและแอลกอฮอล์ : เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนหรือแอลกอฮอล์จะเข้าไปรบกวนวงจรการนอนหลับ ทำให้ร่างกายไม่สามารถเข้าสู่ REM Sleep ได้อย่างเต็มที่
- หากิจกรรมผ่อนคลายทำก่อนนอน : การทำกิจกรรมผ่อนคลาย เช่น อ่านหนังสือ ฟังเพลงเบา ๆ หรือทำสมาธิ จะช่วยให้จิตใจสงบและช่วยให้หลับลึกขึ้น
- ลดการใช้หน้าจอก่อนนอน : แสงสีฟ้าจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเป็นหน้าจอโทรศัพท์มือถือ จอคอมพิวเตอร์ จอทีวี ฯลฯ จะรบกวนการผลิตเมลาโทนิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ช่วยในการนอนหลับ ฉะนั้นควรปิดอุปกรณ์เหล่านี้ก่อนนอนอย่างน้อย 30 นาที
- จัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมต่อการนอน : ห้องนอนควรมีอุณหภูมิที่เหมาะสม มืด และเงียบสงบ เพื่อช่วยให้การนอนของคุณมีคุณภาพ ไม่มีสิ่งเร้ามารบกวน
- ไม่ควรกินอาหารมื้อหนักก่อนนอน : เพราะนอกจากจะทำให้คุณอ้วนขึ้นแล้ว การกินอาหารมื้อหนักก่อนนอนยังทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคกรดไหลย้อน และยังทำให้กระเพาะทำงานหนักมากขึ้น ซึ่งก็จะเป็นเหตุที่ทำให้เรานอนหลับไม่สนิท เพราะระบบภายในยังคงต้องทำงาน(ย่อยอาหาร)อยู่นั่นเอง
: ทริคแต่งห้องนอน ให้หลับสบาย ฝันดีได้ตลอดทั้งคืน
รายละเอียดที่เราได้กล่าวไปข้างต้น เป็นข้อมูลเกี่ยวกับ REM Sleep ที่เราได้นำมาฝาก ซึ่งคุณก็คงจะเห็นแล้วใช่ไหมล่ะว่า การนอนในระดับ REM Sleep มีประโยชน์ต่อทั้งสมอง ร่างกายและจิตใจเป็นอย่างมาก ฉะนั้นแล้วใครที่นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ หรือหลับยังไม่ถึงระยะ REM Sleep เป็นประจำ คุณก็คงจะต้องรีบปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแบบด่วน ๆ ซะแล้ว และไว้โอกาสหน้าเราจะนำข้อมูลดี ๆ อะไรมาฝากอีก คุณก็สามารถติดตามได้ที่ Propertyhub blog : บทความที่รวมทุก Lifestyle ของชาวอสังหาฯ