ใกล้จะสิ้นสุดการรอคอยแล้วกับ รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี(สุวินทวงศ์) ที่ได้ประกาศออกมาอย่างเป็นทางการว่าดำเนินการก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์แบบ 100% และคาดการณ์ว่าจะเปิดให้ประชาชนใช้บริการแบบเต็มรูปแบบในปี 2568 ซึ่งการเปิดใช้บริการของรถไฟฟ้าสายสีส้มจะช่วยทำให้การเดินทางของคนกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออกสามารถเดินทางได้อย่างสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น อีกทั้งในมุมมองของนักลงทุนอสังหาฯ และผู้คนทั่วไป ก็ถือได้ว่า...ช่วงเวลาก่อนเปิดใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีส้มอย่างเต็มรูปแบบ คือช่วงเวลาที่จะสามารถซื้ออสังหาฯ ตามแนวรถไฟฟ้าได้ในราคาที่ยังพอรับไหว เพราะมีการคาดการณ์เอาไว้ว่าเมื่อไหร่ที่รถไฟฟ้าสายสีส้มเปิดใช้บริการอย่างเต็มรูปแบบราคาบ้าน คอนโด และที่ดิน จะมีการปรับขึ้นอย่างแน่นอน และในวันนี้ทีมงาน Propertyhub จึงได้รวบรวมข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับรถไฟฟ้าสายสีส้มมาฝาก โดยจะมีรายละเอียดอะไรที่น่าสนใจบ้างนั้น เราไปติดตามพร้อม ๆ กันเลย
ข้อมูลที่ควรรู้เกี่ยวกับรถไฟฟ้าสายสีส้ม
รถไฟฟ้าสายสีส้ม เป็นระบบรถไฟฟ้าขนาดใหญ่ (Heavy Rail Transit System) เหมือนกับ BTS ส่งผลให้รองรับผู้โดยสารได้เป็นจำนวนมาก 50,000 คน/ชั่วโมง/ทิศทาง และยังสามารถใช้ความเร็วได้สูงสุด 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งรถไฟฟ้าสายสีส้มมีแนวเส้นทางการเดินรถตามแนวตะวันออก - ตะวันตก ของกรุงเทพฯ ตั้งแต่บางขุนนนท์-มีนบุรี แบ่งเป็น...
- ฝั่งตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ - มีนบุรี(สุวินทวงศ์) (22.5 กิโลเมตร)
- ฝั่งตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ - บางขุนนนท์ (13.4 กิโลเมตร)
โดยมีระยะทางรวมทั้งสิ้น 35.9 กิโลเมตร โดยโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มเป็นส่วนหนึ่งของโครงการระบบขนส่งมวลชนทางรางในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ดำเนินการโดย บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ภายใต้การร่วมลงทุนกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย
รายชื่อสถานีรถไฟฟ้าสายสีส้ม ฝั่งตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี(สุวินทวงศ์)
สำหรับรถไฟฟ้าสายสีส้ม ฝั่งตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ - มีนบุรี(สุวินทวงศ์) จะมีทั้งหมด 17 สถานี ซึ่งจะแบ่งออกเป็น สถานีใต้ดิน 10 สถานี สถานียกระดับ 7 สถานี โดยแนวเส้นทางโครงการเริ่มต้นเป็นแบบใต้ดินจากสถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล (รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT สายสีน้ำเงิน) ตัดเข้าพื้นที่ของ รฟม. วิ่งใต้แนวถนนพระราม 9 ลอดใต้ทางพิเศษสายฉลองรัฐ (ทางด่วนสายรามอินทรา – อาจณรงค์) เลี้ยวซ้ายที่สี่แยกพระราม 9 ไปตามแนวถนนรามคำแหง ผ่านสี่แยกลำสาลี แนวเส้นทางเปลี่ยนเป็นแบบยกระดับบริเวณใกล้หมู่บ้านสัมมากร ข้ามแนวถนนกาญจนาภิเษก ไปสิ้นสุดบริเวณแยกถนนรามคำแหงตัดกับถนนสุวินทวงศ์ ซึ่งมีระยะทางรวมทั้งสิ้น 22.5 กิโลเมตร และมีรายชื่อสถานีดังต่อไปนี้
- OR13 สถานี ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
- OR14 สถานี การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)
- OR15 สถานี วัดพระราม 9
- OR16 สถานี รามคำแหง 12
- OR17 สถานี รามคำแหง
- OR18 สถานี การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.)
- OR19 สถานี รามคำแหง 34
- OR20 สถานี แยกลำสาลี
- OR21 สถานี ศรีบูรพา
- OR22 สถานี คลองบ้านม้า
- OR23 สถานี สัมมากร
- OR24 สถานี น้อมเกล้า
- OR25 สถานี ราษฎร์พัฒนา
- OR26 สถานี มีนพัฒนา
- OR27 สถานี เคหะรามคำแหง
- OR28 สถานี มีนบุรี
- OR29 สถานี แยกร่มเกล้า
รายชื่อสถานีรถไฟฟ้าสายสีส้ม ฝั่งตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ - บางขุนนนท์
สำหรับรถไฟฟ้าสายสีส้ม ฝั่งตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ - บางขุนนนท์ มีสถานีทั้งหมด 11 สถานี เป็นสถานีใต้ดินทั้งหมด รวมระยะทางทั้งสิ้น 13.4 กิโลเมตร โดยมีรายชื่อสถานีดังต่อไปนี้
- สถานีประชาสงเคราะห์
- สถานีดินแดง
- สถานีรางน้ำ
- สถานีราชปรารภ
- สถานีประตูน้ำ
- สถานีราชเทวี
- สถานียมราช
- สถานีหลานหลวง
- สถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
- สถานีสนามหลวง
- สถานีศิริราช
- สถานีบางขุนนนท์
- สถานีตลิ่งชัน
*** ทั้งนี้รถไฟฟ้าสายสีส้ม ฝั่งตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ - บางขุนนนท์ ที่ผ่านมายังไม่ได้เริ่มโครงการ เนื่องจากติดปัญหาเรื่องความไม่โปร่งใสในการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน แต่ล่าสุด คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) กับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM โดยกระบวนการหลังจากนี้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะดำเนินการนัดลงนามสัญญากับเอกชนผู้ชนะการประมูล ***
รถไฟฟ้าสายสีส้ม ฝั่งตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี(สุวินทวงศ์) เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายไหนบ้าง ?
- OR13 สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เชื่อมต่อกับ รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน
- OR20 สถานีแยกลำสาลี เชื่อมต่อกับ รถไฟฟ้าสายสีเหลือง
- OR28 สถานีมีนบุรี เชื่อมต่อกับ รถไฟฟ้าสายสีชมพู
ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายส้ม ฝั่งตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี(สุวินทวงศ์)
อัตราค่าโดยสารของรถไฟฟ้าสายสีส้ม ยังไม่มีประกาศออกมาอย่างชัดเจน แต่จะมีการเจรจากับภาคเอกชนให้นำโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มเข้าร่วมนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย
บัตรโดยสารที่คาดการณ์ว่าจะใช้กับรถไฟฟ้าสายสีส้ม
- บัตรโดยสารเที่ยวเดียว (Single Journey Card)
- บัตรชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ เช่น EMV Contactless หรือ Rabbit Card
- บัตรโดยสารในการเดินทางร่วม หรือ บัตรแมงมุม
** ทั้งนี้ข้อมูลอาจมีการเปลี่ยนแปลงเมื่อเปิดใช้บริการเต็มรูปแบบ
จากข้อมูลทั้งหมดที่เราได้กล่าวไปข้างต้น ถือได้ว่าเป็นข้อมูลอัปเดตเกี่ยวกับรถไฟฟ้าสายสีส้มที่ทีมงาน Propertyhub ได้นำมาฝาก และถ้ามีข้อมูลเกี่ยวกับรถไฟฟ้าสายสีส้มเพิ่มเติม ทีมงานจะรีบมาอัปเดตให้ท่านผู้อ่านได้รู้ก่อนใครอย่างแน่นอน