หากกล่าวคำว่า “ภาษีคอนโด” ขึ้นมา เราก็เชื่อเหลือเกินว่าหลายๆ คน คงจะทำหน้าสงสัยว่าภาษีประเภทนี้คืออะไร ? ใครที่จะต้องเป็นผู้เสียภาษีคอนโด ? และต้องเสียเท่าไหร่ ? มีช่องทางการเสียภาษีประเภทนี้ที่ไหนบ้าง ? หรือเรียกง่ายๆ ว่ามีคำถามเกี่ยวกับ “ภาษีคอนโด” เกิดขึ้นเต็มไปหมด ส่งผลให้ทางทีมงาน Propertyhub ได้รวบรวมข้อมูลและรายละเอียดเกี่ยวกับ “ภาษีที่ดินและคอนโด” ในแบบฉบับมือใหม่ ที่คุณสามารถเข้าใจได้ง่ายๆ มาฝาก ซึ่งถ้าคุณพร้อมแล้ว เราไปพบกับข้อมูลที่ทางทีมงานได้นำมาฝากพร้อมๆ กันเลย
ภาษีที่ดินและคอนโดคืออะไร ?
ภาษีที่ดินและคอนโด คือ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จัดเก็บเป็นรายปีตามราคาประเมินของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2562 โดยเริ่มต้นเก็บค่าภาษีคอนโดตั้งแต่ 1 มกราคม พ.ศ. 2563 เป็นต้นมา แต่ในช่วงปี 2563 – 2564 มีการปรับลดการจัดเก็บลง 90% เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ซึ่งรูปแบบการเสียภาษีคอนโดนั้นก็จะเหมือนกับการเสียภาษีทั่วๆ ไป คือเจ้าของคอนโดหรือผู้ที่ครอบครองคอนโด(ไม่ว่าจะเป็นการถือครองเพื่ออยู่อาศัยเองหรือเพื่อการลงทุนปล่อยเช่า) ก็จะต้องเสียภาษีตามเกณฑ์ที่ได้กำหนดไว้ และวัตถุประสงค์หลักของการเรียกเก็บภาษีคอนโดก็คือ เพื่อกำหนดทิศทางการใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์ ลดการถือครองที่ดินเพื่อเก็งกำไร และรายได้จากภาษีคอนโดจะถูกนำไปพัฒนาท้องถิ่นนั่นเอง
ผู้ที่จะต้องเสียภาษีคอนโดคือใคร ?
สำหรับคำถามที่ว่าผู้ที่จะต้องเสียภาษีคอนโดคือใคร ? คำตอบง่ายๆ ก็คือ ผู้ที่ครอบครองที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง ห้องชุด และคอนโดมิเนียม โดยไม่ว่าจะครอบครองเพื่อการพักอาศัยหรือปล่อยเช่าก็ตาม ทั้งนี้อาจจะมีการยกเว้นภาษีในบางกรณี แล้วแต่นโยบายที่รัฐบาลกำหนดในแต่ละช่วงเวลา
ภาษีคอนโดต้องคำนวณอย่างไร ?
การคำนวณภาษีคอนโดนั้น นอกเหนือจากการใช้มูลค่าของคอนโดเป็นเกณฑ์แล้ว ยังมีการใช้หลักเกณฑ์อื่นๆเข้ามาคำนวณอีกด้วย โดยการคำนวณภาษีคอนโดจะถูกแบ่งออกเป็น 3 หลักเกณฑ์ ซึ่งประกอบไปด้วย
1. กรณีครอบครองคอนโดมิเนียมหลังแรก
สำหรับผู้ที่ถือครองคอนโดมิเนียมหลังแรกและมีชื่อตัวเองในทะเบียนบ้าน จะมีเกณฑ์การเสียภาษีคอนโดดังนี้
คอนโดมิเนียมหลังแรกที่มีราคาประเมินไม่เกิน 50 ล้าน : ยกเว้นภาษี
คอนโดมิเนียมหลังแรกที่มีราคาประเมินเกิน 50 ล้าน แต่ไม่เกิน 75 ล้าน : เสียภาษีร้อยละ 0.03
คอนโดมิเนียมหลังแรกที่มีราคาประเมินเกิน 75 ล้าน แต่ไม่เกิน 100 ล้าน : เสียภาษีร้อยละ 0.05
คอนโดมิเนียมหลังแรกที่มีราคาประเมินเกิน 100 ล้านบาท : เสียภาษีร้อยละ 0.10
หรือพูดง่ายๆ เลยก็คือ หากคุณซื้อคอนโดหลังแรกราคาไม่เกิน 50 ล้านบาท คุณจะได้รับการยกเว้นภาษีคอนโดในทันที แต่ถ้าคอนโดของคุณมีราคาเกิน 50 ล้านบาท คุณก็จำเป็นที่จะต้องเสียภาษีตามขั้นบันไดที่เราได้กล่าวไว้เมื่อข้างต้น
ตัวอย่าง
หากคุณซื้อคอนโดหลังแรกในราคา 60 ล้านบาท ก็จะเท่ากับว่า...
มูลค่าคอนโดมิเนียม 60 ล้านบาท – มูลค่าคอนโดมิเนียม 50 ล้านบาท ที่ไม่ต้องเสียภาษี = ส่วนต่าง 10 ล้านบาท
จากนั้นให้คุณนำส่วนต่าง 10 ล้านบาท x 0.03 = 3,000 บาท คือ ภาษีคอนโดที่คุณจะต้องจ่ายนั่นเอง
2. กรณีครอบครองคอนโดมิเนียมหลังที่สองเป็นต้นไป
สำหรับใครที่ครอบครองคอนโดมิเนียมมากกว่า 1 แห่ง โดยมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์แต่ไม่มีชื่อในทะเบียนบ้านจะไม่ได้รับการยกเว้นภาษีคอนโดใดๆ ทั้งสิ้น เพราะกรมที่ดินจะมองว่าคอนโดมิเนียมหลังนั้นไม่ใช่ที่อยู่อาศัยหลักแต่เป็นที่อยู่อาศัยรอง และจะต้องเสียภาษีคอนโดตามเกณฑ์ดังนี้
คอนโดมิเนียมหลังที่สองที่มีราคาประเมินไม่เกิน 50 ล้าน : เสียภาษีร้อยละ 0.02
คอนโดมิเนียมหลังที่สองที่มีราคาประเมินเกิน 50 ล้าน แต่ไม่เกิน 75 ล้าน : เสียภาษีร้อยละ 0.03
คอนโดมิเนียมหลังที่สองที่มีราคาประเมินเกิน 75 ล้าน แต่ไม่เกิน 100 ล้าน : เสียภาษีร้อยละ 0.05
คอนโดมิเนียมหลังที่สองที่มีราคาประเมินเกิน 100 ล้าน : เสียภาษีร้อยละ 0.10
ตัวอย่าง
หากคุณซื้อคอนโดหลังที่สองในราคา 30 ล้านบาท ก็จะเท่ากับว่า...
มูลค่าคอนโดมิเนียม 30 ล้านบาท x 0.02 = 6,000 บาท คือ ภาษีคอนโดที่คุณจะต้องจ่ายนั่นเอง
3. กรณีครอบครองคอนโดมิเนียมสำหรับปล่อยเช่า (เชิงพาณิชย์)
สำหรับการซื้อคอนโดมิเนียมเพื่อปล่อยเช่านั้น คุณจะไม่ได้รับการยกเว้นภาษีคอนโดและต้องเสียภาษีคอนโดตามเกณฑ์ ดังนี้
คอนโดมิเนียมเชิงพาณิชย์ที่มีราคาประเมินไม่เกิน 50 ล้าน : เสียภาษีร้อยละ 0.3
คอนโดมิเนียมเชิงพาณิชย์ที่มีราคาประเมินเกิน 50 ล้าน แต่ไม่เกิน 200 ล้าน : เสียภาษีร้อยละ 0.4
คอนโดมิเนียมเชิงพาณิชย์ที่มีราคาประเมินเกิน 200 ล้าน แต่ไม่เกิน 1,000 ล้าน : เสียภาษีร้อยละ 5
คอนโดมิเนียมเชิงพาณิชย์ที่มีราคาประเมินเกิน 1,000 ล้าน แต่ไม่เกิน 5,000 ล้าน : เสียภาษีร้อยละ 6
คอนโดมิเนียมเชิงพาณิชย์ที่มีราคาประเมินเกิน 5,000 ล้าน : เสียภาษีร้อยละ 7
ต้องเสียภาษีที่ดินและคอนโดเมื่อไหร่ ?
การเสียภาษีที่ดินและคอนโดนั้นจะมาในรูปแบบรายปี โดยจะมีหนังสือแจ้งภาษีส่งให้กับคุณในเดือนภุมภาพันธ์และคุณจะต้องชำระภายในเดือนเมษายน แต่สำหรับใครที่ต้องการผ่อนชำระ คุณก็สามารถแจ้งความประสงค์ต่อเจ้าหน้าที่ได้ ซึ่งการผ่อนชำระค่าภาษีนั้นจะถูกแบ่งออกเป็น 3 งวด ได้แก่
งวดที่ 1 : เดือนเมษายน
งวดที่ 2 : เดือนพฤษภาคม
งวดที่ 3 : เดือนมิถุนายน
(ระยะเวลาการเสียภาษีที่ดินและคอนโดอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์ อาทิเช่น ปี 2565 มีการกำหนดให้ชำระภายในเดือนมิถุนายน 2565 ส่วนการผ่อนชำระก็เลื่อนเป็นงวดแรกเดือนมิถุนายน งวดที่สองเดือนกรกฎาคม และงวดสุดท้ายเดือนสิงหาคม)
ช่องทางการเสียภาษีที่ดินและคอนโด
ในปัจจุบันนี้มีช่องทางการเสียภาษีที่ดินและคอนโดอยู่ 2 ช่องทางหลักๆ ซึ่งประกอบไปด้วย
1. ช่องทางหลัก
หากคอนโดตั้งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครฯ คุณสามารถไปชำระได้ที่ : สำนักงานเขตที่ดินที่คอนโดของคุณตั้งอยู่
หากคอนโดตั้งอยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัด คุณสามารถไปชำระได้ที่ : สำนักงานเทศบาลหรือจุดบริการที่สำนักงานเทศบาลจัดไว้
หากคอนโดตั้งอยู่ในพื้นที่พัทยา คุณสามารถไปชำระได้ที่ : ศาลาว่าการเมืองพัทยา
2. ช่องทางออนไลน์ ผ่านแอพพลิเคชั่น
ช่องทางการเสียภาษีที่ดินและคอนโดที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในยุคนี้ก็คือ การเสียภาษีที่ดินและคอนโดผ่านทางแอพพลิเคชั่นหรือ Mobile Banking ของธนาคารที่ต้องการ โดยให้คุณสแกน QR Code ที่แนบไปกับหนังสือแจ้งประเมินภาษี ซึ่งคุณจำเป็นที่จะต้องตรวจสอบรายละเอียดต่างๆ ให้ดีก่อนที่จะกดยืนยันในการชำระเงิน ทั้งนี้ใบเสร็จรับเงินยืนยันการชำระภาษีจะถูกจัดส่งไปยังที่อยู่ในภายหลัง
ค่าปรับเมื่อคุณไม่ยอมเสียภาษีที่ดินและคอนโดตามเวลาที่กำหนด
หากคุณไม่ได้เสียภาษีที่ดินและคอนโดตามที่กรมที่ดินได้กำหนดไว้ ก็จะมีการส่งหนังสือแจ้งเตือนและจะต้องเสียค่าปรับตามอัตราที่กรมที่ดินกำหนด รวมถึงเสียผลประโยชน์บางข้อ อาทิเช่น
ไม่ชำระตามกำหนดระยะเวลา แต่ชำระก่อนได้หนังสือแจ้งเตือน ปรับ 10%
ชำระหลังจากมีการส่งหนังสือแจ้งเตือน ในระยะเวลาตามที่หนังสือแจ้งเตือนกำหนด ปรับ 20%
ชำระหลังจากระยะเวลาที่หนังสือแจ้งเตือนกำหนด ปรับ 40%
เสียภาษีเพิ่ม 1% ต่อเดือนจากภาษีที่ค้างชำระ
หากคุณยังค้างชำระอยู่ อาจถูกระงับสิทธิ์ในการจดทะเบียนและโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน รวมถึงอาจถูกระงับสิทธิครอบครองที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างนั้นๆ
จากรายละเอียดทั้งหมดที่เราได้กล่าวไป ก็คงพอจะทำให้คุณได้รู้จักกับคำว่า “ภาษีคอนโด” ได้มากยิ่งขึ้น และสำหรับใครที่กังวลใจว่าเราจะต้องจ่ายภาษีคอนโดหรือไม่ ? จะโดนเรียกเก็บย้อนหลังหรือเปล่า ? เราก็ขอบอก ณ ตรงนี้เลยว่า หากคุณซื้อคอนโดหลังแรกในราคาไม่เกิน 50 ล้านบาท คุณก็จะได้รับการ “ยกเว้นภาษี” แต่ในกรณีที่คุณซื้อคอนโดหลังที่สอง สาม สี่ หรือมีราคามากกว่า 50 ล้านบาท คุณก็จำเป็นที่จะต้องเสียภาษีคอนโดตามรายละเอียดที่เราได้กล่าวเอาไว้เมื่อข้างต้น และไว้โอกาสหน้าทีมงาน Propertyhub จะสรุปข้อมูลอะไรมาฝากคุณอีก คุณก็สามารถติดตามบทความที่อ่านง่าย ได้ความรู้เกี่ยวกับอสังหาฯ/คอนโด ได้ที่ Propertyhub Blog : บทความสำหรับชาวคอนโดยุคใหม่