การจ้าง ผู้รับเหมา เป็นส่วนสำคัญในโครงการก่อสร้างและการต่อเติมบ้าน แต่หลายครั้งเจ้าของบ้านหรือผู้ว่าจ้างต้องพบกับปัญหาจาก การผิดสัญญาของผู้รับเหมา ซึ่งเสียทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย ดังนั้นการเข้าใจวิธีป้องกันและรับมือไม่ให้โดนโกงจึงเป็นสิ่งสำคัญที่เจ้าของบ้านควรรู้ และในบทความนี้จะพาคุณไปทำความรู้จักกับปัญหานี้และแนะนำวิธีการป้องกันการผิดสัญญาของผู้รับเหมา
การผิดสัญญาของผู้รับเหมา คืออะไร ?
การผิดสัญญาของผู้รับเหมาเกิดขึ้นเมื่อผู้รับเหมาไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ตกลงกันในสัญญา อาทิ ทำงานไม่เสร็จตามกำหนดเวลา ใช้วัสดุที่ไม่ได้คุณภาพ หรือทิ้งงานกลางคัน ซึ่งถ้าหากเกิดปัญหาเหล่านี้เจ้าของบ้านมีสิทธิในการเรียกร้องค่าเสียหายหรือบอกเลิกสัญญาได้ตามกฎหมาย
รูปแบบการผิดสัญญาที่พบบ่อย ?
1. ทำงานล่าช้าเกินกว่ากำหนด
เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุด คือ ผู้รับเหมาไม่สามารถส่งมอบงานได้ตามกำหนด ซึ่งเป็นการผิดสัญญาโดยตรง หลายครั้งผู้รับเหมาอาจอ้างเหตุผล เช่น ฝนตก วัสดุไม่พร้อมหรือแรงงานไม่พอ
2. ทิ้งงานกลางคัน
การทิ้งงาน คือการที่ผู้รับเหมาหยุดทำงานโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า หรือแม้แต่ปิดโทรศัพท์ กรณีนี้สร้างความเสียหายเป็นอย่างมาก เพราะผู้จ้างต้องเสียเวลาและเสียค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากต้องหาผู้รับเหมารายใหม่
3. ใช้วัสดุไม่ตรงจากที่ตกลงไว้
อีกหนึ่งรูปแบบของการโกงที่มักพบคือ การใช้วัสดุที่ไม่ได้ระบุไว้ในสัญญาหรือใช้ของเกรดต่ำกว่าที่ตกลงไว้เพื่อประหยัดต้นทุน เช่น แทนที่จะใช้เหล็กคุณภาพสูงตามแบบ แต่กลับใช้เหล็กที่ไม่ได้คุณภาพเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย
4. ปรับเปลี่ยนเนื้องานโดยไม่แจ้งหรือไม่ขออนุญาต
บางกรณี ผู้รับเหมาอาจเปลี่ยนแบบก่อสร้างเองโดยไม่ปรึกษาผู้จ้าง เช่น ย้ายตำแหน่งเสา ประตู หรือห้องน้ำ ซึ่งไม่ตรงตามที่ตกลงไว้ในแบบ ถือเป็นการ ละเมิดข้อตกลงและเสี่ยงต่อความเสียหายทางโครงสร้าง
5. ไม่รับผิดชอบงานหลังส่งมอบ
หลังส่งมอบงาน ผู้รับเหมาบางรายอาจปฏิเสธการรับประกันหรือไม่ยอมแก้งานที่มีปัญหา เช่น งานรั่วซึม พื้นทรุด หรือผนังร้าว ซึ่งควรมีการระบุไว้ในสัญญาอย่างชัดเจนเกี่ยวกับการรับประกันงาน
6. เรียกเก็บเงินเกินจริง
ผู้รับเหมาบางรายอาจมีพฤติกรรม เรียกเก็บเงินงวดงานมากเกินไปกว่าความคืบหน้าของงาน เช่น งานยังไม่ถึงครึ่งทางแต่กลับเรียกเงินค่างวดล่วงหน้า เมื่อได้เงินแล้วก็ทำงานช้าลงหรือหยุดงานทันที
กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการผิดสัญญาของผู้รับเหมา
สัญญาจ้างผู้รับเหมา เป็นสัญญาชนิดหนึ่งที่ตามกฎหมายเรียกว่า สัญญาจ้างทำของ โดยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 587 บัญญัติไว้ว่า
“มาตรา 587 อันว่าจ้างทำของนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจ้าง ตกลงจะทำการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น” จากตัวบทกฎหมายข้างต้นจะเห็นว่า สัญญาจ้างทำของเป็นสัญญาต่างตอบแทน คือ ผู้รับจ้างจะต้องทำงานอย่างหนึ่งอย่างใดจนสำเร็จให้แก่ผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างต้องให้สินจ้างเพื่อผลงานนั้น สัญญาจ้างทำของเป็นสัญญาที่มุ่งถึงผลสำเร็จของงานที่ทำเป็นสำคัญ วัตถุประสงค์ของสัญญาจ้างทำของ คือ ผลสำเร็จของงาน สัญญาจ้างทำของเป็นสัญญาที่ไม่มีแบบ เกิดขึ้นโดยการแสดงเจตนาตกลงกัน แม้ด้วยวาจาก็สามารถ ฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ โดยไม่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือแต่อย่างใด
สิทธิของเจ้าของบ้านเมื่อผู้รับเหมาผิดสัญญา
เมื่อเกิดเหตุ ผู้รับเหมาผิดสัญญา เจ้าของบ้านสามารถใช้สิทธิทางกฎหมายได้ดังนี้
1. บอกเลิกสัญญา
หากงานล่าช้าหรือทิ้งงาน ผู้ว่าจ้างสามารถบอกเลิกสัญญาได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าจ้างเพิ่ม
2. เรียกค่าเสียหาย
หากเกิดความเสียหายจากการผิดสัญญา เช่น ต้องจ้างผู้รับเหมารายใหม่ในราคาที่สูงกว่า หรือมีค่าเสียหายจากงานก่อสร้างชำรุด ก็สามารถเรียกร้องค่าเสียหายได้
3. ฟ้องร้องดำเนินคดี
หากตกลงกันไม่ได้ สามารถยื่นฟ้องศาลเพื่อให้ศาลพิจารณาเรียกค่าเสียหายจากผู้รับเหมา

แนวทางป้องกันปัญหา ทำอย่างไรไม่ให้ผู้รับเหมาผิดสัญญา ?
1. ตรวจสอบประวัติและความน่าเชื่อถือของผู้รับเหมา
การตรวจสอบประวัติผู้รับเหมาเป็นขั้นตอนแรกที่สำคัญที่สุด ควรขอดูผลงานที่ผ่านมา โดยเฉพาะโครงการที่มีลักษณะคล้ายกับโครงการของคุณ ขอเยี่ยมชมโครงการที่เสร็จสมบูรณ์แล้วและโครงการที่กำลังดำเนินการอยู่ พร้อมกับสังเกตคุณภาพของงานและมาตรฐานความปลอดภัยในการทำงาน
2. ทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรให้ชัดเจนและรัดกุม
การตกลงกันด้วยวาจา อาจสร้างปัญหาในอนาคตได้ การทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร จะช่วยป้องกันปัญหาได้ดีที่สุด
สิ่งที่ควรมีในสัญญา
- รายละเอียดของงาน (เช่น แบบบ้าน รายการวัสดุ)
- ราคาค่าจ้างทั้งหมด และเงื่อนไขการแบ่งจ่ายเงิน
- กำหนดเริ่มงานและวันแล้วเสร็จ
- เงื่อนไขกรณีทำงานล่าช้า เช่น ค่าปรับต่อวัน
- เงื่อนไขการยกเลิกสัญญา
- การรับประกันงานหลังส่งมอบ
3. แบ่งจ่ายเงินเป็นงวด ตามความคืบหน้าของงาน
อย่าจ่ายเงินล่วงหน้ามากเกินไป วิธีที่ปลอดภัยคือการแบ่งจ่ายตามงวดงาน โดยผูกกับความคืบหน้าของงาน
4. ขอหลักฐานการจ่ายเงินทุกครั้ง
ทุกครั้งที่จ่ายเงินควรมีหลักฐาน เช่น
- ใบเสร็จรับเงิน หรือใบรับรองหนี้
- สลิปการโอนเงิน
- ถ่ายรูปเซ็นรับเงินต่อหน้า
การมีหลักฐานจะเป็นประโยชน์หากต้องฟ้องร้อง หรือพิสูจน์การชำระเงินในภายหลัง
5. มีผู้ควบคุมงานช่วยตรวจสอบคุณภาพ
หากคุณไม่มีความรู้ด้านงานก่อสร้าง การมี วิศวกร หรือ Foreman คอยควบคุมงานจะช่วย
ตรวจสอบความถูกต้องของงาน ช่วยเช็กคุณภาพของวัสดุและติดตามความคืบหน้าของงาน
6. ถ่ายภาพและบันทึกความคืบหน้าทุกงวด
ควรเก็บบันทึกภาพและรายละเอียดของงานเป็นระยะ เพื่อใช้เป็นหลักฐานหากเกิดข้อโต้แย้ง เช่น
- ถ่ายภาพหน้างานพร้อมวันที่
- บันทึกการเปลี่ยนแปลงแบบหรือวัสดุ
- จดรายงานรายวันหรือรายสัปดาห์
การผิดสัญญาของผู้รับเหมาอาจสร้างความเสียหายทั้งด้านเวลาและค่าใช้จ่าย ดังนั้นการทำสัญญาที่ชัดเจนรัดกุม และเลือกผู้รับเหมาที่เชื่อถือได้ คือทางป้องกันที่ดีที่สุดจากปัญหาการผิดสัญญาของผู้รับเหมา และถ้าหากเกิดปัญหาขึ้น ควรใช้สิทธิทางกฎหมายอย่างเหมาะสม เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตน อีกทั้งการเตรียมตัวและเข้าใจในขั้นตอนทางกฎหมาย ก็จะช่วยให้คุณสามารถจัดการกับปัญหาการผิดสัญญาของผู้รับเหมาได้อย่างมั่นใจนั่นเอง และสำหรับใครที่กำลังต้องการปล่อยเช่าคอนโด บ้าน หรืออสังหาฯ ในรูปแบบอื่น ๆ คุณก็สามารถเข้ามาลงประกาศปล่อยเช่าได้ฟรีที่ Propertyhub เว็บไซต์ที่รวมประกาศปล่อยเช่า/ขายอสังหาฯ ที่ใช้งานง่ายมากที่สุด