รัฐบาลร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” เพื่อให้ความช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและ SMEs เฉพาะกลุ่ม การช่วยเหลือจะครอบคลุมลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และผู้ประกอบธุรกิจ Non-bank ที่เป็นบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารพาณิชย์
โครงการ "คุณสู้ เราช่วย" คืออะไร?
คุณสู้ เราช่วย นับเป็นโครงการที่ประสานบทบาทของทั้งภาครัฐ เอกชน และลูกหนี้ ในการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนในกลุ่มเปราะบาง โดยลูกหนี้จะต้องลงทะเบียนสมัครเข้าร่วมโครงการและชำระหนี้ตามเงื่อนไข ขณะที่ภาครัฐและสถาบันการเงินจะร่วมสนับสนุนเม็ดเงินในการให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมฝ่ายละครึ่งหนึ่ง (50%) เพื่อให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ร่วมโครงการ ซึี่งประกอบด้วย 2 มาตรการ ดังนี้
มาตรการที่ 1 “จ่ายตรง คงทรัพย์”
ช่วยเหลือลูกหนี้สินเชื่อบ้าน รถ และ SMEs ขนาดเล็กที่มีวงเงินหนี้ไม่สูงมาก ให้สามารถรักษาทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันทั้งบ้าน รถ และสถานประกอบการไว้ได้ โดยเป็นการปรับโครงสร้างหนี้แบบลดค่างวดและลดภาระดอกเบี้ย โดยค่างวดที่จ่ายจะนำไปตัดเงินต้น
ให้ความช่วยเหลืออย่างไร?
- ลดค่างวดเป็นระยะเวลา 3 ปี โดยลูกหนี้ชำระค่างวดขั้นต่ำที่ 50% 70% และ 90% ของค่างวดเดิม ในปีที่ 1 ปีที่ 2 และปีที่ 3 ตามลำดับ ซึ่งค่างวดทั้งหมดจะนำไปตัดเงินต้น
- พักดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 3 ปี หากลูกหนี้ปฏิบัติตามเงื่อนไขได้ตลอดช่วงระยะเวลา 3 ปีที่อยู่ภายใต้มาตรการ
*ทั้งนี้ ลูกหนี้สามารถชำระมากกว่าค่างวดขั้นต่ำที่กำหนดไว้ได้ เพื่อตัดเงินต้นเพิ่มและปิดจบหนี้ได้ไวขึ้น
คุณสมบัติลูกหนี้ที่สามารถเข้าร่วมมาตรการ 1 ได้
-
มีวงเงินสินเชื่อรวมต่อสถาบันการเงินไม่เกินที่กำหนด โดยพิจารณาแยกวงเงินตามประเภทสินเชื่อต่อสถาบันการเงิน ดังนี้
-สินเชื่อบ้าน / บ้านแลกเงิน (วงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาท)
-สินเชื่อเช่าซื้อ / จำนำทะเบียนรถยนต์ (วงเงินไม่เกิน 8 แสนบาท)
-สินเชื่อเช่าซื้อ / จำนำทะเบียนรถจักรยานยนต์ (วงเงินไม่เกิน 5 หมื่นบาท)
-สินเชื่อธุรกิจ SMEs (วงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาท)
-กรณีสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิต หากมีหนี้บ้านหรือรถที่เข้าเงื่อนไขข้างต้น สามารถพิจารณาเข้ามาตรการรวมหนี้ได้ ภายใต้ระดับความเสี่ยงที่สถาบันการเงินรับได้ โดยวงเงินเมื่อรวมแล้วไม่เกินเงื่อนไขที่กำหนด
-
เป็นสินเชื่อที่ทำสัญญาก่อนวันที่ 1 มกราคม 2567
-
มีสถานะหนี้ ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2567 อย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้
-เป็นหนี้ที่ค้างชำระเกินกว่า 30 วัน แต่ไม่เกิน 365 วัน
-เป็นหนี้ที่ไม่ค้างชำระหรือค้างชำระไม่เกิน 30 วัน แต่เคยมีประวัติการค้างชำระเกิน 30 วัน และได้รับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565
มาตรการที่ 2 “จ่าย ปิด จบ”
ช่วยลูกหนี้รายย่อยที่มีหนี้เสียและยอดหนี้ไม่สูง ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้แบบผ่อนปรน เพื่อเปลี่ยนสถานะจากหนี้เสียเป็นปิดจบหนี้ เปลี่ยนสถานะการเป็นหนี้ จาก “หนี้เสีย” เป็น “ปิดจบหนี้”
ให้ความช่วยเหลืออย่างไร?
ปรับโครงสร้างหนี้แบบผ่อนปรน โดยลูกหนี้จะชำระหนี้บางส่วน เพื่อให้สามารถจ่ายและปิดจบหนี้ได้เร็วขึ้น
คุณสมบัติลูกหนี้ที่สามารถเข้าร่วมมาตรการ 2 ได้
-
ลูกหนี้บุคคลธรรมดา ที่มีสถานะค้างชำระเกินกว่า 90 วัน (NPL) ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2567
-
มีภาระหนี้ต่อบัญชี ไม่เกิน 5,000 บาท โดยไม่จำกัดประเภทสินเชื่อ (สามารถเข้าร่วมมาตรการได้มากกว่า 1 บัญชี)
ในระยะต่อไป ผู้ประกอบธุรกิจกลุ่ม Non-Bank อื่น ๆ จะมีความช่วยเหลือออกมาเพิ่มเติม ซึ่งอาจมีรายละเอียดที่แตกต่างไป เพื่อร่วมกันผลักดันให้การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนเดินหน้าได้อย่างเป็นรูปธรรมในวงกว้างและครอบคลุมลูกหนี้ได้มากขึ้น
สถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการ
ธนาคารกสิกรไทย
ธนาคารกรุงเทพธนาคารออมสิน
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
ธนาคารกรุงไทย
ธนาคารเกียรตินาคินภัทร
ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย
ธนาคารทหารไทยธนชาต ธนาคารทิสโก้
ธนาคารไทยพาณิชย์
ธนาคารออมสิน
ธนาคารอื่น ๆ(ตรวจสอบรายชื่อสถาบันการเงิน คลิกเลย!)
สำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมมาตรการ ภายใต้โครงการ “คุณสู้ เราช่วย” สามารถศึกษารายละเอียดของมาตรการและสมัครเข้าร่วมได้ที่ https://www.bot.or.th/khunsoo ตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2567 เวลา 8.30 น. ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 23.59 น. หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่ BOT contact center ของ ธปท. โทร 1213 หรือ call center ของสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการและกดเบอร์ต่อ 99
อัพเดทข่าวสารเกี่ยวกับอสังหาฯ คอนโด บ้าน ที่ดินและอื่น ๆ ก่อนใคร ต้องที่นี่ : propertyhub.in.th