สรุปทุกประเด็นสำคัญของโครงการ Ashton Asoke (แอชตัน อโศก) ศาลปกครองสูงสุดด้านคดีสิ่งแวดล้อม ได้มีคำพิพากษาเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างคอนโดโครงการ แอชตัน อโศก ทั้งๆ ที่คอนโดสร้างเสร็จแล้ว และมีลูกบ้านย้ายเข้าอยู่แล้วกว่าร้อยยูนิต ทำไมถึงเพิ่งมามีคำพิพากษาถูกเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้าง วันนี้ทีมงานพร็อพเพอร์ตี้ฮับขอมารวบรวมและสรุปประเด็นสำคัญๆ ให้ได้อ่านกัน
แอชตัน อโศก โครงการระดับ High Rise 50 ชั้น 700+ ยูนิต มีผู้อาศัยอยู่แล้วกว่า 488 ครอบครัว ตั้งอยู่บนทำเลที่ดีที่สุดและแพงที่สุดเป็นอันดับต้นๆ ในกรุงเทพ บนถนนอโศกมนตรี ใกล้รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT สถานีสุขุมวิท เพียง 20 เมตร เนื่องจากเป็นทำเลธุรกิจใจกลางเมือง CBD ปัจจุบันจึงมีลูกบ้านที่อาศัยอยู่แล้วทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2014 บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จํากัด Developer เจ้าของโครงการแอชตัน อโศกได้เริ่มมีแพลนที่จะก่อสร้างคอนโดโครงการนี้ขึ้น โดยมีการรวมที่ดินประมาณ 3 แปลงเข้าด้วยกัน เพื่อให้ได้พื้นที่ขนาดประมาณ 2 ไร่ สำหรับใช้ในการก่อสร้างโครงการ Ashton Asoke
ประเด็นก็คือที่ดินในแต่ละแปลงนั้น บางแปลงจะติดกับซอยย่อยในซอยสุขุมวิท 19 และบางแปลงดันเป็นที่ดินที่ไม่มีทางเข้าออกเลย
ซ้ำสองเมื่อมีการสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินในขณะนั้น ก็ได้มีการขอเวนคืนที่ดินบางส่วน ซึ่งปัจจุบันที่ดินตรงนั้นเป็นพื้นที่สำหรับขึ้นลงรถไฟฟ้า MRT สถานีสุขุมวิท ทางออกประตู 1 ทำให้ด้านหน้าของโครงการที่ตั้งใจไว้ว่าจะต้องติดกับถนนใหญ่นั้นหายไป ทำให้โครงการแอชตันกลายเป็นที่ดินที่ไม่ติดกับถนนใหญ่
ประเด็นอยู่ที่ตรงนี้ เมื่อมีการเวนคืนที่ดินไปแล้วถึงแม้ว่าลูกบ้านจะเข้าออกภายในโครงการได้ตามปกตินั้น แต่กฎหมายในเรื่องของผังเมืองบ้านเราได้ระบุไว้ว่า เมื่อมีการสร้างตึกสูง พื้นที่ของคุณจะต้องมีทางเข้าออกอย่างต่ำ 12 เมตร สำหรับไว้ใช้กรณีฉุกเฉินเพื่อให้รถดับเพลิงเข้าไประงับเหตุได้
ก่อนที่จะมีการก่อสร้างทางโครงการก็ได้มีการขอ EIA เพื่อก่อสร้าง และได้มีการดำเนินการที่ผ่านตามขั้นตอนและกระบวนการตามปกติ
ปี 2015 ก็ได้เริ่มเปิดตัวโครงการ แอชตัน อโศก และในระหว่างที่โครงการมีการเปิดขาย เนื่องจากเป็นทำเลที่ดีที่สุดน่าจับจองเป็นเจ้าของทั้งสำหรับการอยู่อาศัย และการทำกำไรของเหล่าผู้ลงทุนอสังหาฯ แล้ว ก็ทำให้โครงการแอชตัน อโศก Sold Out ไปอย่างรวดเร็ว
ปี 2016 ในระหว่างที่มีการก่อสร้างคอนโด แอชตัน อโศก ก็ได้มีสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ตัวแทนชุมชน และชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียงได้รวมตัวกันฟ้องร้องต่อศาลปกครอง, ผอ.เขตวัฒนา, และหน่วยงานรัฐอีกหลายหน่วยงาน ในเรื่องของผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม อย่างเช่นเรื่อง อาคารสูงที่เมื่อสร้างเสร็จแล้วจะมีการบังลม บังทิศทางแดด และผลกระทบในเรื่องเสียงระหว่างก่อสร้าง เป็นต้น
และในปี 2017 โครงการ แอชตัน อโศก ก็ได้มีข่าวแว่วๆ มาว่าโครงการขายออกไปเป็นที่เรียบร้อย สร้างเสร็จเรียบร้อย ลูกบ้านตรวจรับห้องไปเป็นที่เรียบร้อย แต่ไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้กับลูกบ้านได้ เนื่องจากไม่ได้มีใบอนุญาตในการเปิดใช้อาคาร (อ.6) จาก กทม. ซึ่งในช่วงนั้น กทม.ได้แจ้งมาว่าโครงการยังคงมีคดีที่กำลังถูกฟ้องร้องและกำลังรอพิจารณาอยู่
กลางปี 2018 ทาง กทม. ได้มีการเซ็นอนุมัติ อ.6 ทางโครงการจึงได้เริ่มมีการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้กับลูกบ้านได้
ในระหว่างที่มีเรื่องพิพาทกันหลายปี ทาง รฟม. ก็ได้มีการแจ้งกับทางโครงการว่าที่ดินที่ถูกเวนคืนนี้ รฟม.อนุญาตให้ผ่านทางได้ ซึ่งก็ทำให้ลูกบ้านที่ย้ายเข้าอยู่นั้นสามารถที่จะเข้าออกได้ตามปกติ
กลางปี 2021 ศาลปกครองได้มีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างออกมา โดยให้เหตุผลว่าที่ดินของโครงการ แอชตัน อโศกนี้ ไม่ได้มีที่ดินในด้านใดที่ติดกับถนนใหญ่ซึ่งจะต้องมีพื้นที่อย่างต่ำ 12 เมตร ตามกฎหมายกำหนดสำหรับใช้เป็นทางเข้าออกเมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน
และเมื่อวานนี้ วันที่ 27 ก.ค. 2023 ศาลปกครองสูงสุดก็ได้มีคำพิพากษาเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างอาคารโครงการคอนโด แอชตัน อโศก ตามที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน โดยนายศรีสุวรรณ จรรยา กับพวกรวม 16 คน ได้ยื่นฟ้องต่อผู้อำนวยการเขตวัฒนา กับ พวกรวม 5 คน และ บริษัท อนันดา เอ็ม เอฟ เอเชีย อโศก จำกัด เป็น บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ทู จำกัด