สำหรับการขายฝากและการจำนองนั้น หากมองแบบผิวเผินแล้วเราก็เชื่อเหลือเกินว่าหลายๆ คน ยังคงแยกนิติกรรมทั้ง 2 รูปแบบนี้ไม่ออก จนทำให้เกิดความสับสนในการตัดสินใจเลือกทำนิติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นในบทความนี้ทางทีมงาน Propertyhub จึงจะขอนำข้อมูลรายละเอียดและความแตกต่างของการขายฝากและการจำนองมาอธิบายในรูปแบบที่เข้าใจง่าย ให้คุณได้ทำความเข้าใจกัน ซึ่งถ้าพร้อมแล้วเราไปพบกับข้อมูลที่น่าสนใจนี้พร้อมๆ กันเลย
การขายฝาก
การขายฝาก คือ นิติกรรมในรูปแบบของการขายทรัพย์สิน ไม่ว่าจะเป็น บ้าน คอนโด รถยนต์ ฯลฯ ให้กับผู้รับซื้อฝาก โดยจะมีการทำสัญญาขายฝากและมีข้อตกลงกันว่า ผู้ขายฝากสามารถไถ่ทรัพย์สินนั้นคืนได้ตามเงื่อนไขและระยะเวลาที่ตกลงกัน ซึ่งกรรมสิทธิ์การเป็นเจ้าของสินทรัพย์ที่นำมาขายฝากจะกลายเป็นของผู้รับซื้อฝากทันทีและต้องส่งมอบทรัพย์สินให้แก่ผู้รับซื้อฝาก
“ทั้งนี้หากผู้ขายฝากไม่ได้ไถ่ทรัพย์สินคืนตามเงื่อนไขและระยะเวลาที่ตกลง ผู้ขายฝากจะหมดสิทธิไถ่ทรัพย์สินคืน โดยผู้รับซื้อฝากไม่ต้องไปใช้สิทธิฟ้องบังคับตามสัญญาขายฝากอีก”
และในกรณีที่ทรัพย์สินที่ต้องการขายฝากเป็นอสังหาริมทรัพย์ คู่สัญญาจะต้องนำสัญญาขายฝากไปจดทะเบียน ณ สำนักงานที่ดินที่มีเขตอำนาจด้วย เพื่อที่การขายฝากจะได้มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย
การจำนอง
การจำนอง คือ นิติกรรมในลักษณะของการนำทรัพย์สินมาเป็นหลักค้ำประกันในการกู้ยืมเงิน ซึ่งผู้ที่ต้องการจำนองจะต้องเอาทรัพย์สินต่างๆ ไปจดทะเบียนเพื่อตราไว้เป็นหลักค้ำประกันแก่ผู้รับจำนอง แต่จะ “ไม่มีการโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินให้แก่ผู้รับจำนองโดยเด็ดขาด” โดยในการจำนองทรัพย์สินทุกประเภทจะต้องนำสัญญาจำนองไปจดทะเบียนด้วย ทั้งนี้ในกรณีที่ทรัพย์สินเป็นอสังหาริมทรัพย์ ผู้จำนองและผู้รับจำนองจะต้องดำเนินการจดจำนองต่อหน้าเจ้าพนักงาน ณ สำนักงานที่ดินตามเขตอำนาจที่ทรัพย์ตั้งอยู่เท่านั้น
โดยผู้จำนองยังคงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินที่จำนอง จึงมีสิทธิใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินที่จำนองต่อไปได้ แต่! เมื่อไหร่ที่มีการผิดนัดชำระหนี้หรือทำผิดข้อตกลงในสัญญา ผู้รับจำนองมีสิทธิฟ้องบังคับชำระหนี้และบังคับคดีกับทรัพย์สินที่จำนองได้ตามกฎหมาย
: รู้ก่อนเซ็นสัญญา! ว่าการจดจำนองคืออะไร ?
ตารางเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่าง การขายฝาก VS การจำนอง
การขายฝาก
|
การจำนอง
|
|
|
-
ผู้ขายฝากมีสิทธิไถ่ทรัพย์สินคืนตามเงื่อนไขและระยะเวลาที่กำหนดในสัญญาขายฝาก โดยกรณีอสังหาริมทรัพย์ กำหนดเวลาไถ่ทรัพย์สินคืนได้ไม่เกิน 10 ปี และ กรณีสังหาริมทรัพย์ ไม่เกิน 3 ปี นับแต่เวลาขายฝาก
-
หากผู้ขายฝากไม่มาไถ่ทรัพย์สินคืนตามเงื่อนไขและระยะเวลาที่กำหนด ผู้ขายฝากเพียงหมดสิทธิไถ่ทรัพย์สินคืนต่อไป โดยไม่ต้องชำระเงินเพิ่มเติมให้ผู้รับซื้อฝากอีก
|
-
กฎหมายไม่ได้กำหนดระยะเวลาสูงสุดของการจำนองไว้
-
การจำนองจะสิ้นสุดลง เมื่อหนี้ที่มีการจำนองเป็นประกันสิ้นสุดลง หรือการจำนองสิ้นสุดลงด้วยเหตุอื่นๆ ตามที่กฎหมายกำหนด
-
หากผู้จำนองได้นำทรัพย์สินมาจำนองเพื่อประกันหนี้ของตนเอง และมีข้อตกลงว่าจะชำระหนี้จนครบถ้วน หากบังคับจำนองแล้วได้เงินไม่เพียงพอ ผู้จำนองยังมีหน้าที่ต้องชำระเงินเพิ่มเติมให้ผู้รับจำนองจนกว่าจะครบถ้วน
|
|
|
-
ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนขายฝาก ในอัตรา 2% ของราคาประเมิน
-
ค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ (กรณีถือครองอสังหาริมทรัพย์ยังไม่เกิน 5 ปี) ในอัตรา 3.3% หรือ ค่าอากรแสตมป์ ในอัตรา 0.5% ของราคาประเมิน หรือราคาขายฝาก แล้วแต่ราคาใดจะสูงกว่า (ถ้าเสียค่าภาษีธุรกิจเฉพาะแล้ว ไม่ต้องเสียค่าอากรแสตมป์อีก)
-
ค่าภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่าย คำนวณจากราคาประเมิน ตามอัตราที่กรมสรรพากรกำหนด
|
-
ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนจำนอง ในอัตรา 1% จากวงเงินจำนองสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท
-
ค่าอากรแสตมป์ กรณีการจำนองเพื่อเป็นประกันการกู้ยืมเงิน หรือการตกลงให้เบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคาร ตราสารกู้ยืมเงิน หรือการตกลงให้เบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคารทุกจำนวนเงิน 2,000 บาท หรือเศษของ 2,000 บาท เสียค่าอากรแสตมป์ 1 บาท แต่ไม่เกิน 10,000 บาท
|
ขอขอบคุณข้อมูลตารางเปรียบเทียบจาก : แสนสิริ
รายละเอียดข้างต้นเป็นความแตกต่างของการขายฝากและการจำนองที่ทางทีมงานได้สรุปใจความสำคัญมาให้ ซึ่งเราก็หวังว่าคุณจะเข้าใจในนิติกรรมทั้ง 2 รูปแบบนี้มากยิ่งขึ้น และหากในอนาคตถ้าคุณมีความจำเป็นที่จะต้องเลือกทำนิติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง คุณคงจะสามารถตัดสินใจเลือกใช้บริการนิติกรรมได้อย่างถูกต้องและตอบโจทย์ เพื่อให้เกิดประโยชน์ได้มากที่สุด และไว้โอกาสหน้าทีมงานจะนำข้อมูลอะไรมาฝากอีก คุณสามารถติดตามพวกเราได้ที่ Propertyhub Blog : บทความสำหรับชาวคอนโดทุกใหม่