สำหรับคู่รักที่ตัดสินใจกู้ร่วมเพื่อซื้อคอนโดหรือบ้านร่วมกันนั้น ก็คงจะเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญในการใช้ชีวิตคู่ของคุณทั้ง 2 คน แต่! เมื่อวันเวลาผ่านไปความรักที่เคยหวาน กลับจืดจางและจบลงด้วยการแยกทางกันในที่สุด ส่งผลให้หลายๆ คน คิดไม่ตกว่าจะทำอย่างไรกับสัญญาที่ได้กู้ร่วมกันไว้ คอนโดหรือบ้านจะต้องตกเป็นของใคร ? แล้วมันมีทางออกของปัญหานี้อย่างไรบ้าง ? ครั้นจะให้กลับไปคืนดีกันก็คงจะเป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นวันนี้ทีมงาน Propertyhub จึงจะขอแนะนำแนวทางการแก้ไขปัญหาเมื่อเกิดเลิกกับแฟน แต่ยังคงมีสัญญากู้ร่วมเกี่ยวพันกันอยู่ ซึ่งแนวทางการแก้ไขปัญหานี้จะมีอะไรบ้าง เราไปติดตามพร้อมๆ กันเลย!
1.ถอนชื่อของอีกฝ่ายออกจากการกู้ร่วม
เมื่อคุณทั้ง 2 คน ตัดสินใจแน่วแน่แล้วว่าจะเลิกรากัน ดังนั้นแนวทางการแก้ไขสัญญากู้ร่วมวิธีแรกเลยก็คือ การถอนชื่อของอีกฝ่ายออกจากสัญญากู้ร่วม แต่ทั้งนี้คุณทั้งสองคนจะต้องตกลงกันให้ดีว่าใครจะเป็นผู้ผ่อนชำระคอนโดหรือบ้านต่อไป ซึ่งการถอนชื่อของอีกฝ่ายออกนั้นจะถูกแบ่งเป็น 2 กรณี ก็คือ...
คู่รักที่จดทะเบียนสมรส
สำหรับ(อดีต)คู่รักที่จดทะเบียนสมรส การแก้ไขสัญญากู้ร่วมเลยก็คือ ให้คุณนำใบหย่าและสัญญาจะซื้อจะขายไปที่ธนาคาร เพื่อถอดถอนชื่อของอีกฝ่าย โดยทางธนาคารจะทำการเปลี่ยนรูปแบบสินเชื่อที่อยู่อาศัยและจะจัดทำสัญญาตัวใหม่มาให้แทน
คู่รักที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส
การถอนชื่อของอีกฝ่ายออกจากสัญญากู้ร่วมสำหรับคู่รักที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส ถือได้ว่าเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ง่ายๆ แต่ทั้งนี้คุณทั้ง 2 คน จะต้องตกลงกันให้ดีว่าใครจะเป็นคนถือกรรมสิทธิ์คอนโดหรือบ้านต่อไป ซึ่งวิธีการก็คือให้คุณไปแจ้งกับทางธนาคารว่าต้องการถือกรรมสิทธิ์เพียงคนเดียวและต้องการที่จะถอดถอนชื่อของอีกฝ่ายหนึ่งออกจากสัญญา เนื่องจากมีการเลิกรากัน ซึ่งทางธนาคารก็จะทำการประเมินว่าคุณสามารถผ่อนชำระต่อได้หรือไม่ หากต้องเป็นผู้รับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว
2.ทำการรีไฟแนนซ์จากการกู้ร่วมเป็นการกู้แต่เพียงผู้เดียว
แนวทางการแก้ไขปัญหาสัญญากู้ร่วมสำหรับคู่รักที่ต้องเลิกรากันไปข้อที่ 2 ก็สืบเนื่องมาจากข้อที่ 1 ในกรณีที่ “ทางธนาคารไม่อนุมัติให้คุณถอดถอนชื่อของอีกฝ่ายหนึ่งออก” เนื่องจากทางธนาคารได้ประเมินแล้วว่าคุณหรือ(อดีต)คนรัก ไม่สามารถชำระหนี้คนเดียวได้อย่างแน่นอน ดังนั้นการรีไฟแนนซ์จึงกลายเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด โดยให้คุณทำเรื่องรีไฟแนนซ์กับทางธนาคารแห่งใหม่แต่เพียงผู้เดียว โดยทางธนาคาร(ใหม่) ก็จะทำการประเมินความสามารถในการชำระหนี้ของคุณ ซึ่งมีปัจจัยในการพิจารณาอนุมัติการรีไฟแนนซ์ก็คือ...
รายได้ของผู้ยื่นเรื่องกู้
ตรวจเช็คประวัติทางการเงิน(เครดิตบูโรหรือแบล็คลิสต์)
เช็คภาระหนี้สิ้นของผู้ยื่นเรื่องกู้
ดูยอดในการดาวน์ที่ทำเรื่องกู้ซื้อคอนโด/บ้าน
ซึ่งถ้าการรีไฟแนนซ์ได้รับการอนุมัติ คุณทั้ง 2 คน ก็จะตัดขาดกันได้อย่างสมบูรณ์แบบ ไม่มีปัญหาสัญญากู้ร่วมมากวนใจอีกต่อไป
3.ประกาศขายคอนโด/บ้าน
หากคุณทั้ง 2 คน ไม่ต้องการที่จะเห็นหรือรับรู้เกี่ยวกับสถานที่แห่งนี้อีกต่อไป เพราะมันเป็นเสมือนสถานที่ที่เต็มไปด้วยอดีตแห่งความรักและความเจ็บปวด ทางออกสุดท้ายในการแก้ไขปัญหาสัญญากู้ร่วมเลยก็คือการ “ประกาศขายคอนโด/บ้าน” โดยที่คุณทั้ง 2 ฝ่าย จะต้องยินยอม แต่! ทั้งนี้คุณทั้ง 2 คน อาจจะต้องเสียค่าธรรมต่างๆ ก่อนประกาศขาย ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
ค่าธรรมเนียมการโอน
ค่าอากรแสตมป์
ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย
ภาษีธุรกิจเฉพาะ
เรื่องความรักมันไม่มีใครผิดหรือถูก ดังนั้นในตอนที่คุณตัดสินใจกู้ร่วมกันมันจึงถือได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุด แต่ถ้าหากความรักมันต้องจบลงหรือต้องเลิกลากันไป การแก้ไขสัญญากู้ร่วมจึงกลายเป็นสิ่งที่คุณทั้ง 2 คน จะต้องจัดการร่วมกันเป็นครั้งสุดท้ายก่อนที่จะแยกย้ายเดินไปตามเส้นทางของตัวเอง และสำหรับ(อดีต)คู่รักคู่ไหน ที่ตัดสินใจแล้วว่าจะประกาศขายคอนโด คุณก็สามารถเข้ามาประกาศขายฟรี ได้ที่ Propertyhub เว็บไซต์ที่ผู้คนไว้วางใจในการค้นหาคอนโด