สำหรับข้อมูลอีกหนึ่งเรื่องที่คนไทยที่มีบ้านมีที่ดินเป็นของตัวเองจะต้องรู้และทำความเข้าใจเลยก็คือ “ภาษีบ้านและที่ดิน” หรือที่เรามักจะได้ยินกันว่า “ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” ซึ่งถือได้ว่าเป็นภาษีที่อยู่อาศัยที่คนไทยจะต้องจ่ายตามกฎหมาย แต่สำหรับใครที่พึ่งซื้อบ้านหรือซื้อที่ดินและยังไม่รู้ว่าภาษีประเภทนี้คืออะไร ? ต้องเสียค่าภาษีเท่าไหร่ ? ต้องเสียตอนไหน ? วันนี้ทางทีมงาน Propertyhub ก็ได้สรุปรายละเอียดเกี่ยวกับภาษีบ้านและที่ดินในแบบฉบับที่เข้าใจง่ายมาฝาก พร้อมกับอัปเดตข้อมูลการเรียกเก็บภาษีบ้านและที่ดินในปี 2567
ภาษีบ้านและที่ดิน คืออะไร ?
ภาษีบ้านและภาษีที่ดิน หรือ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง คือ ภาษีเรียกเก็บรายปี โดยคิดจากมูลค่าที่ดินและสิ่งก่อสร้างที่คุณครอบครอง ไม่ว่าจะเป็นบ้าน คอนโดมิเนียม อาคารสำนักงาน ฯลฯ ซึ่งภาษีประเภทนี้ถูกประกาศใช้เมื่อปี 2562 เป็นกฎหมายที่ใช้แทน “ภาษีโรงเรือนและที่ดิน” และ “ภาษีบำรุงท้องที่” ทั้งนี้การจัดเก็บภาษีบ้านและที่ดินจะถูกแบ่งออกเป็น 4 รูปแบบ หลัก ๆ ประกอบไปด้วย...
1. ที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัย
ที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัย เป็นที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์สำหรับเป็นที่อยู่อาศัยเป็นหลัก เช่น ที่ดิน หรือสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของอยู่เอง โดยจะต้องมีเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์และทะเบียนบ้าน รวมถึงบ้านหลังอื่น ๆ ที่เจ้าของมีชื่อในโฉนด แต่ไม่มีชื่อในทะเบียนบ้าน ก็จะต้องจ่ายภาษีที่อยู่อาศัยด้วยเช่นกัน
ภาษีบ้านและที่ดิน (ที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัย) ปี 2567 ต้องจ่ายเท่าไหร่ ?
บ้านหลังหลัก มีชื่อในทะเบียนบ้าน เป็นเจ้าของที่ดิน
มูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท ได้รับการยกเว้นภาษี
มูลค่ามากกว่า 50-75 ล้านบาท อัตราภาษี 0.03%
มูลค่ามากกว่า 75-100 ล้านบาท อัตราภาษี 0.05%
มูลค่ามากกว่า 100 ล้านบาทขึ้นไป อัตราภาษี 0.1%
บ้านหลังหลัก มีชื่อในทะเบียนบ้าน แต่ไม่ใช่เจ้าของที่ดิน
มูลค่าไม่เกิน 10 ล้านบาท ได้รับการยกเว้นภาษี
มูลค่ามากกว่า 10-50 ล้านบาท อัตราภาษี 0.02%
มูลค่ามากกว่า 50-75 ล้านบาท อัตราภาษี 0.03%
มูลค่ามากกว่า 75-100 ล้านบาท อัตราภาษี 0.05%
มูลค่ามากกว่า 100 ล้านบาทขึ้นไป อัตราภาษี 0.1%
บ้านหลังที่ 2 เป็นต้นไป หรือไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน
มูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท อัตราภาษี 0.02%
มูลค่ามากกว่า 50-75 ล้านบาท อัตราภาษี 0.03%
มูลค่ามากกว่า 75-100 ล้านบาท อัตราภาษี 0.05%
มูลค่ามากกว่า 100 ล้านบาทขึ้นไป อัตราภาษี 0.1%
2. ที่ดินเพื่อการเกษตร
ที่ดินเพื่อการเกษตร เป็นการใช้ประโยชน์ของที่ดินสำหรับเกษตรกรรมในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การทำนา ทำสวนผลไม้ ทำไร่ ทำฟาร์มสัตว์ ทำบ่อน้ำเลี้ยงปลา ฯลฯ โดยมีจุดประสงค์หลักเพื่อการบริโภคเองหรือจำหน่าย ซึ่งถ้าเปิดเป็นบริษัทจำเป็นที่จะต้องขึ้นทะเบียนการทำเกษตรกรรม แต่ถ้าเป็นในกรณีบุคคลธรรมดาก็จำเป็นที่จะต้องขึ้นทะเบียนเกษตรกรฯ
ภาษีบ้านและที่ดิน (ที่ดินเพื่อการเกษตร) ปี 2567 ต้องจ่ายเท่าไหร่ ?
เจ้าของที่ดินเป็นบุคคลธรรมดา
มูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท ได้รับการยกเว้นภาษี
มูลค่ามากกว่า 50-125 ล้านบาท อัตราภาษี 0.01%
มูลค่ามากกว่า 125-150 ล้านบาท อัตราภาษี 0.03%
มูลค่ามากกว่า 150-550 ล้านบาท อัตราภาษี 0.05%
มูลค่ามากกว่า 550-1,050 ล้านบาท อัตราภาษี 0.07%
มูลค่ามากกว่า 1,050 ล้านบาทขึ้นไป อัตราภาษี 0.1%
เจ้าของที่ดินเป็นนิติบุคคล
มูลค่าไม่เกิน 75 ล้านบาท อัตราภาษี 0.01%
มูลค่ามากกว่า 75-100 ล้านบาท อัตราภาษี 0.03%
มูลค่ามากกว่า 100-500 ล้านบาท อัตราภาษี 0.05%
มูลค่ามากกว่า 500-1,000 ล้านบาท อัตราภาษี 0.07%
มูลค่ามากกว่า 1,000 ล้านบาทขึ้นไป อัตราภาษี 0.1%
3. ที่ดินรกร้าง
หากเจ้าของที่/เจ้าของโฉนด ปล่อยให้ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างทิ้งร้างนาน 3 ปี ติดต่อกัน โดยไม่ได้นำที่ดินดังกล่าวไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ทั้ง ๆ ที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ตามปกติ คุณก็จำเป็นที่จะต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเช่นเดียวกัน(ยกเว้นกรณีที่เกิดภัยธรรมชาติ หรือพ้นวิสัยจนไม่สามารถทำประโยชน์ได้) ทั้งนี้ภาษีจะเพิ่มขึ้นทุก ๆ 3 ปี แต่ไม่เกิน 3% ซึ่งสำหรับที่ดินที่อยู่ระหว่างเตรียมการเพื่อใช้ประโยชน์หรือสิ่งปลูกสร้างที่กำลังก่อสร้าง และที่ดินที่ถูกรอนสิทธิตามกฎหมายอยู่ระหว่างพิจารณาคดีหรือมีคำสั่งจากศาล จะไม่ถือว่าเป็นที่ดินผืนนั้นเป็นที่ดินรกร้าง
ภาษีบ้านและที่ดิน (ที่ดินรกร้าง) ปี 2567 ต้องจ่ายเท่าไหร่ ?
มูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท อัตราภาษี 0.3%
มูลค่ามากกว่า 50-200 ล้านบาท อัตราภาษี 0.4%
มูลค่ามากกว่า 200-1,000 ล้านบาท อัตราภาษี 0.5%
มูลค่ามากกว่า 1,000-5,000 ล้านบาท อัตราภาษี 0.6%
มูลค่ามากกว่า 5,000 ล้านบาทขึ้นไป อัตราภาษี 0.7%
อย่างไรก็ตาม กรณีที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ 3 ปีติดต่อกัน ในปีที่ 4 จะต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นอีก 0.3% และเก็บเพิ่มอีก 0.3% ทุก ๆ 3 ปี แต่อัตราภาษีรวมไม่เกิน 3%
4. ที่ดินสำหรับการใช้ประโยชน์อื่น ๆ
ที่ดินสำหรับการใช้ประโยชน์อื่น ๆ เช่น การปล่อยเช่าที่อยู่อาศัย ไม่ว่าจะเป็น หอพัก อพาร์ทเม้นท์ โรงแรม อาคารพาณิชย์ ฯลฯ ก็จำเป็นที่จะต้องเสียภาษีที่ดินเช่นเดียวกัน
ภาษีบ้านและที่ดิน (ที่ดินสำหรับการใช้ประโยชน์อื่น ๆ) ปี 2567 ต้องจ่ายเท่าไหร่ ?
มูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท อัตราภาษี 0.3%
มูลค่ามากกว่า 50-200 ล้านบาท อัตราภาษี 0.4%
มูลค่ามากกว่า 200-1,000 ล้านบาท อัตราภาษี 0.5%
มูลค่ามากกว่า 1,000-5,000 ล้านบาท อัตราภาษี 0.6%
มูลค่ามากกว่า 5,000 ล้านบาทขึ้นไป อัตราภาษี 0.7%
อัตราการจัดเก็บภาษีบ้านและที่ดิน
สำหรับอัตราการจัดเก็บภาษีบ้านและที่ดินนั้น จะถูกแยกเป็น 4 ประเภท ตามข้อมูลที่เราได้กล่าวไปเมื่อข้างต้น โดยจะมีการคำนวณแบบขั้นบันไดตามมูลค่าของฐานภาษีแต่ละขั้น ซึ่งถ้าหากบ้าน ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างมีราคาประเมินสูง คุณก็จำเป็นที่จะต้องจ่ายแพงขึ้นตามอัตราภาษีที่ภาครัฐได้กำหนดไว้ หรือถ้าหากมีสิ่งปลูกสร้างที่มีการใช้ประโยชน์ได้หลาย ๆ ด้าน ก็จะมีการคิดตามสัดส่วนในการทำประโยชน์ของแต่ละประเภท
วิธีคำนวณภาษีบ้านและที่ดิน
ในส่วนของการคำนวณภาษีบ้านและที่ดินจะใช้การคำนวณแบบขั้นบันไดตามมูลค่าของฐานภาษีแต่ละขั้น
โดยใช้สูตรเบื้องต้นดังนี้
มูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง - มูลค่าของฐานภาษีที่ได้รับการยกเว้น = มูลค่าของฐานภาษี
หลังจากนั้นนำ
มูลค่าของฐานภาษี × อัตราภาษี = ค่าภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
ใครมีหน้าที่ต้องจ่ายภาษีบ้านและที่ดิน ?
เจ้าของที่ดิน/เจ้าของสิ่งปลูกสร้าง/เจ้าของห้องชุด ที่มีชื่อในโฉนดที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
ผู้ครอบครองทรัพย์สิน ทำประโยชน์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างของรัฐ เช่น ผู้เช่าที่ราชพัสดุอยู่ แม้ไม่ได้เป็นเจ้าของที่นั้น ๆ แต่เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีตามกฎหมายฉบับนี้
ผู้ครอบครองหรือใช้ประโยชน์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างนั้นอยู่ในวันที่ 1 มกราคมของปีภาษีนั้น ๆ
หากเจ้าของที่ดินและเจ้าของสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินนั้นไม่ใช่คนเดียวกัน ให้ต่างคนต่างเสียภาษีเฉพาะส่วนที่ตัวเองเป็นเจ้าของ
กรณีมีผู้ครอบครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมากกว่า 1 คนขึ้นไป ทุกคนจะต้องรับผิดชอบภาษีดังกล่าวร่วมกัน
ต้องจ่ายภาษีบ้านและที่ดินที่ไหน ?
ที่ทำการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อปท. หรือสำนักงานเขต
ผ่านตู้ ATM ธนาคารกรุงไทย และธนาคารกรุงไทยทุกสาขา
บัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต
ไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ เช่น ธนาณัติ ตั๋วแลกเงิน เช็ค
แอปฯ Mobile Banking (หากชำระผ่านทางธนาคาร หรือ Mobile Banking จะได้รับใบเสร็จภายใน 5-7 วัน)
บทลงโทษและค่าปรับสำหรับผู้ที่จ่ายภาษีบ้านและที่ดินล่าช้า
ถ้าไม่ได้มาจ่ายภาษีภายในเวลาที่กำหนด แต่ต่อมาได้มาชำระภาษีก่อนที่จะได้รับหนังสือแจ้งเตือน ให้คิดเบี้ยปรับ 10% ของจำนวนภาษีค้างชำระ
ถ้าจ่ายภาษีภายในระยะเวลาที่กำหนดในหนังสือแจ้งเตือนให้คิดเบี้ยปรับ 20% ของจำนวนภาษีค้างชำระ
ถ้าจ่ายภาษีภายหลังจากเวลาที่กำหนดในหนังสือแจ้งเตือน ให้คิดเบี้ยปรับ 40% ของจำนวนภาษีค้างชำระ
ผู้เสียภาษีที่มิได้ชำระภาษีภายในเวลาที่กำหนด ให้เสียเงินเพิ่มอีก 1% ต่อเดือนของ จำนวนภาษีค้างชำระ โดยให้เริ่มนับเมื่อพ้นกำหนดเวลาชำระภาษีจนถึงวันที่มีการชำระภาษี แต่ต้องไม่เกินกว่าจำนวนภาษีที่ต้องจ่าย
ในกรณีที่ผู้เสียภาษีใช้หลักฐานเท็จเพื่อเลี่ยงภาษีจะได้รับโทษทางอาญา และในกรณีที่ผู้เสียภาษีไม่เห็นด้วยกับการประเมินภาษี สามารถยื่นอุทธรณ์ต่อผู้บริหารท้องถิ่นได้ภายใน 30 วัน
หากคุณยังคงค้างชำระภาษีบ้านและที่ดินต่อไปเรื่อย ๆ อาจถูกระงับสิทธิ์ในการจดทะเบียนและโอนกรรมสิทธิ์บ้าน/ที่ดิน รวมถึงอาจถูกระงับสิทธิครอบครองที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างนั้น ๆ
เลื่อนเก็บภาษีบ้านและที่ดิน ปี 2567
ล่าสุด กระทรวงมหาดไทย ขยายกำหนดเวลาดำเนินการตามพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 ประจำปี 2567 ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการขยายกำหนดการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประจำปี 2567 เป็นการทั่วไป ออกไป 2 เดือน โดยมีรายละเอียด ดังนี้
ขยายกำหนดเวลาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในการจัดทำบัญชีรายการที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อประกาศ พร้อมจัดทำข้อมูลเกี่ยวข้องกับผู้เสียภาษีแต่ละรายทราบ จากเดิมภายในเดือนพฤศจิกายน 2566 เป็นภายในเดือนมกราคม 2567
ขยายกำหนดเวลาของ อปท. ในการประกาศราคาประเมินทุนทรัพย์ของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง อัตราภาษีที่จัดเก็บ และรายละเอียดอื่นที่จำเป็นในการจัดเก็บภาษี จากเดิมก่อนวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 เป็นก่อนวันที่ 1 เมษายน 2567
ขยายกำหนดเวลาของ อปท. ในการแจ้งการประเมินภาษี โดยส่งแบบประเมินภาษีให้ประชาชนผู้เสียภาษี จากเดิมภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 เป็นภายในเมษายน 2567
ขยายกำหนดเวลาของผู้เสียภาษีในการชำระภาษีตามแบบแจ้งการประเมินภาษี จากเดิมภายในเดือนเมษายน 2567 เป็นภายในเดือนมิถุนายน 2567
ขยายกำหนดเวลาของผู้เสียภาษีในการผ่อนชำระภาษี ดังนี้
- งวดที่ 1 จากเดิมชำระภายในเดือนเมษายน 2567 เป็นภายในเดือนมิถุนายน 2567
- งวดที่ 2 จากเดิมภายในเดือนพฤษภาคม 2567 เป็นภายในเดือนกรกฎาคม 2567
- งวดที่ 3 จากเดิมภายในเดือนมิถุนายน 2567 เป็นภายในเดือนสิงหาคม 2567
ขยายกำหนดเวลาของ อปท. ในการมีหนังสือแจ้งเตือนผู้เสียภาษีที่มีภาษีค้าง จากเดิมภายในเดือนพฤษภาคม 2567 เป็น ภายในเดือนกรกฎาคม 2567
ขยายกำหนดเวลาของ อปท. ในการแจ้งรายการภาษีค้างชำระให้สำนักงานที่ดินหรือสำนักงานที่ดินสาขา จากเดิมภายในเดือนมิถุนายน 2567 เป็นภายในเดือนสิงหาคม 2567
รายละเอียดทั้งหมดข้างต้น เป็นข้อมูลเกี่ยวกับภาษีบ้านและที่ดิน ที่คนไทยทุก ๆ คน ควรจะต้องรู้ และไว้โอกาสหน้าทีมงาน Propertyhub จะนำข้อมูลดี ๆ อะไรมาฝากคุณอีก คุณก็สามารถติดตามพวกเราได้ที่ Propertyhub Blog : บทความที่รวมทุกเรื่องราวเกี่ยวกับอสังหาฯ
ค้นหาบ้าน ที่ดิน และคอนโดกว่า 4,000 โครงการทั่วประเทศได้ที่ Propertyhub : Best Thailand property marketplace for condos, homes, and land. Create your free listing now.