“ศาลพระภูมิ ศาลเจ้าที่หรือศาลตายาย” ถือได้ว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่คู่กับคนไทยมาเป็นเวลานานนับตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน เพราะมีความเชื่อว่ากันว่า สถานที่ใดที่มีศาลพระภูมิ ศาลเจ้าที่หรือศาลตายาย สถานที่แห่งนั้น ๆ จะมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คอยดูแลคุ้มครองให้ผู้อยู่อาศัยมีแต่ความสงบสุข ร่มเย็น ชีวิตมีแต่ความเจริญก้าวหน้า แต่คุณเคยสงสัยบ้างหรือไม่ ? ว่าศาลพระภูมิ และ ศาลเจ้าที่หรือศาลตายายแตกต่างกันอย่างไร ? ทำไมบางบ้านมีศาลเดียว ทำไมบางบ้านถึงมีครบทั้ง 2 ศาล ? ซึ่งถ้าคุณเป็นอีกคนหนึ่งที่กำลังมีข้อสงสัยในประเด็นนี้อยู่ ทางทีมงาน Propertyhub ก็จะขอพาคุณไปทำความรู้จักกับ "ศาลพระภูมิและศาลเจ้าที่หรือศาลตายาย" ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร ?
ศาลพระภูมิ
ศาลพระภูมิ คือ สถานที่ประทับของเทพารักษ์(พระภูมิ หรือ พระชัยมงคล) ซึ่งจะคอยปกปักรักษาให้ผู้อยู่อาศัยมีแต่ความสงบสุข ร่มเย็น ชีวิตมีแต่ความเจริญรุ่งเรือง และยังคอยคุ้มครองป้องกันสิ่งที่ไม่ดี สิ่งที่เป็นอัปมงคล ไม่ให้เข้ามาสู่ภายในตัวบ้าน โดยตามความเชื่อนั้น “พระภูมิ หรือ พระชัยมงคล” เป็นโอรสองค์โตของท่านท้าวทศราชชัยมงคลที่มีโอรสทั้งหมด 9 องค์ ซึ่งองค์เทพแต่ละองค์จะได้รับหน้าที่ในการดูแลสถานที่ต่าง ๆ แตกต่างกันออกไปตามคำสั่งของพระนารายณ์ และก็แน่นอนว่า พระภูมิ หรือ พระชัยมงคล ก็ได้รับหน้าที่ดูแลบ้านเรือนจนนำมาสู่การตั้งศาลพระภูมิตามที่พักอาศัยนั่นเอง
ลักษณะเด่นของศาลพระภูมิ
มีลักษณะเป็นวิหารหลังเล็ก ส่วนบริเวณเสาจะมีเพียงเสาเดียวเท่านั้น เนื่องจากพระภูมิมีสถานะเป็นภุมมเทวาหรือเทพที่มาอาศัยอยู่บนพื้นดินมนุษย์
ของไหว้สำหรับศาลพระภูมิมีอะไรบ้าง ?
สำหรับของไหว้ศาลพระภูมิ จะมี 3 ส่วนหลัก ๆ ประกอบไปด้วย
ของบูชา : ดอกไม้ พวงมาลัย ข้าวที่หุงใหม่(ก่อนคนบริโภคเท่านั้น)และกับข้าว เช่น แกงจืด แกงเผ็ด ผัดผัก เป็นต้น
ของคาวต่าง ๆ : เช่น หัวหมู ไก่ กุ้ง เป็ด ปู ปลามีหัว-หาง(ทั้งตัว) เป็นต้น (ทุกอย่างต้องผ่านการปรุงสุก)
ของหวาน : เช่น ขนมสามทอง (ทองหยิบ, ทองหยอด, ฝอยทอง) ขนมเม็ดขนุน ขนมสีขาว-สีแดง ฯลฯ รวมไปถึงผลไม้มงคลชนิดต่าง ๆ
ไหว้ศาลพระภูมิจะต้องใช้ธูปกี่ดอก ?
การไหว้ศาลพระภูมิจะใช้ธูปทั้งหมด 9 ดอก
พระคาถาไหว้ศาลพระภูมิ
ให้คุณจุดธูป 9 ดอก แล้วตั้งนะโม 3 จบ จากนั้นให้ตั้งจิตตั้งใจสวดพระคาถาไหว้ศาลพระภูมิ ทั้งนี้คุณสามารถเลือกสวดบทใดบทหนึ่งก็ได้ตามสะดวก
ยัสสานุภาวะโต ยักขา เนวะ ทัสเสนติ ภิงสะนัง ยัมหิ เจวานุยุญชันโต รัตตินทิวะ มะตันทิโต สุขัง สุปะติ สุตโต จะ ปาปัง กิญจิ นะ ปัสสะติ เอวะมาทิ คุณูปเปตัง ปะริตตันตัม ภะณามะเหฯ
ภูมมัสมิง ทิสาภาเค สันติภูมมา มหิทธิกา เตปิตุมเห อนุรักขันตุ อาโรคเยนะ สุเขนะจะ (3 จบ)
สิโรเม ขอเดชะพระภูมิเทวารักษาที่ รับพระพรจากเจ้ากรุงพาลี ให้วัฒนาถาวรสิ่งสุขแด่ข้าพเจ้า ขอให้ข้าพเจ้า (คำอธิษฐาน) มั่งมีเงินทองและทรัพย์พัสดุข้าวของเนืองนอง โสตถิ ชัยยะ ภะวันตุ เม
ศาลเจ้าที่ หรือ ศาลตายาย
ศาลเจ้าที่หรือศาลตายาย คือ ศาลที่ตั้งขึ้นเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของบรรพบุรุษหรือดวงวิญญาณเจ้าของที่นั้น ๆ ที่ยังไม่ได้ไปเกิด โดยตามความเชื่อว่ากันว่า ดวงวิญญาณที่อยู่ในศาลเจ้าที่หรือศาลตายาย จะคอยดูแลปกปักรักษาบ้านเรือนให้มีแต่ความสุข ความเจริญ อีกทั้งยังเปรียบเสมือนร่มโพธิ์ร่มไทรให้ผู้อยู่อาศัยรู้สึกปลอดภัยอุ่นใจจากสิ่งที่มองไม่เห็น(และเป็นพลังงานด้านลบ) ซึ่งศาลเจ้าที่หรือศาลตายายจะมีศักดิ์ในลำดับถัดมาจากพระภูมิที่เป็นเทพ ดังนั้นตัวศาลจึงจะถูกสร้างให้อยู่ระดับที่ต่ำกว่าศาลพระภูมิ
ลักษณะเด่นของศาลเจ้าที่หรือศาลตายาย
มีลักษณะเป็นบ้านไม้ทรงไทย ส่วนบริเวณเสาจะมี 4 หรือ 6 เสา (แต่ส่วนใหญ่จะมี 4 เสา)
ของไหว้สำหรับศาลเจ้าที่หรือศาลตายายมีอะไรบ้าง ?
สำหรับของไหว้ศาลเจ้าที่หรือศาลตายายจะมี 3 ส่วนหลัก ๆ ประกอบไปด้วย
ของบูชา : ดอกไม้ พวงมาลัย ข้าวที่หุงใหม่(ก่อนคนบริโภคเท่านั้น)และกับข้าว เช่น แกงจืด แกงเผ็ด ผัดผัก เป็นต้น ทั้งนี้อาจจะมีการถวาย โอ่งเงินโอ่งทอง, ตุ๊กตาชาย-หญิง, ตุ๊กตาช้างม้า (ถือเป็นข้าทาสบริวาร), โพธิ์เงิน – โพธิ์ทอง ร่วมด้วย
ของคาวต่าง ๆ : เช่น หัวหมู ไก่ กุ้ง เป็ด ปู ปลามีหัว-หาง(ทั้งตัว) เป็นต้น (ทุกอย่างต้องผ่านการปรุงสุก)
ของหวาน : เช่น ขนมสามทอง (ทองหยิบ, ทองหยอด, ฝอยทอง) ขนมเม็ดขนุน ขนมสีขาว-สีแดง ฯลฯ รวมไปถึงผลไม้มงคลชนิดต่าง ๆ
ไหว้ศาลเจ้าที่หรือศาลตายายต้องใช้ธูปกี่ดอก ?
การไหว้ศาลเจ้าที่หรือศาลตายายจะใช้ธูปทั้งหมด 5 ดอก
คาถาไหว้ศาลเจ้าที่หรือศาลตายาย
ให้คุณจุดธูป 5 ดอก แล้วตั้งนะโม 3 จบ จากนั้นให้ตั้งจิตตั้งใจสวดคาถาไหว้ศาลเจ้าที่หรือศาลตายาย ดังนี้
ตา-ยาย ยัสมิง ทิสาภาเค สันติ ตายายเทวา มหิทธิกา เตปิตุมเห อนุรักขันตุ อาโรคเยนะ สุเขนะจะ (3 จบ)
สิโรเม ขอเดชะ ตายายเทวา เจ้าของที่ ขอให้ช่วยดูแลคุ้มครองรักษาบ้านเรือน (ชื่อสถานที่) และข้าพเจ้าผู้อยู่อาศัยในสถานที่นี้ (คำอธิษฐาน) โสตถิ ชัยยะ ภะวันตุ เม
รายละเอียดต่าง ๆ ที่เราได้กล่าวไปเมื่อข้างต้น คงพอจะทำให้คุณเข้าใจแล้วใช่ไหมล่ะว่า...ศาลพระภูมิและศาลเจ้าที่หรือศาลตายาย มีความแตกต่างกันอย่างไร ? ส่วนในเรื่องของไหว้ รูปแบบการบูชา ก็อาจจะมีความแตกต่างกันออกไปตามความเชื่อของผู้คนแต่ละท้องถิ่น แต่จุดประสงค์หลักของการตั้งศาลพระภูมิ ศาลเจ้าที่หรือศาลตายาย ก็เพื่อความเป็นสิริมงคลของผู้พักอาศัย และยังช่วยทำให้รู้สึกอุ่นใจและปลอดภัยจากสิ่งที่มองไม่เห็น เพราะตามความเชื่อว่ากันว่า ศาลพระภูมิและศาลเจ้าที่หรือศาลตายาย จะไม่อนุญาตให้วิญญาณร้ายหรือสิ่งที่ไม่ดีเข้ามาในอาณาเขตของตัวบ้านนั่นเอง อีกทั้งในปัจจุบันนี้ลักษณะของศาลพระภูมิและศาลเจ้าที่หรือศาลตายาย ก็มีการออกแบบให้เข้ากับยุคสมัยใหม่มากยิ่งขึ้นอีกด้วย
และไว้โอกาสหน้าทีมงานจะนำข้อมูลดี ๆ อะไรมาฝากอีก คุณก็สามารถติดตามได้ที่ Propertyhub Blog : บทความที่รวมทุกเรื่องราวเกี่ยวกับอสังหาฯ