“การจดจำนองบ้าน การจดจำนองที่ดิน” คงจะเป็นคำที่หลายๆ คน ได้ยินกันมาตั้งแต่เด็ก ซึ่งก็มีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ไม่รู้ความหมายที่แท้จริงว่าการจดจำนองนั้นมันคืออะไร ? ทำไมถึงมีแต่ข่าวด้านลบเกี่ยวกับคำๆ นี้ออกมา ? แล้วมันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์หรือที่อยู่ของเราอย่างไร ? เพราะฉะนั้นในบทความนี้เราจึงได้รวบรวมรายละเอียดเกี่ยวกับการจดจำนองมาฝาก รับประกันเลยว่ารายละเอียดที่เรากำลังจะกล่าวถึงต่อไปนี้ จะช่วยให้คุณรู้จักกับคำว่า “การจดจำนอง” ได้เป็นอย่างดีเลยล่ะ และเพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาเราไปพบกับข้อมูลที่น่าสนใจนี้กันเลย
ความหมายที่แท้จริงของการจำนอง!
การจำนอง คือ... การทำสัญญากู้เงินที่ใช้อสังหาริมทรัพย์มาเป็นหลักค้ำประกันในการกู้! ซึ่งผู้ที่ต้องการจำนองนั้นจะต้องเอาทรัพย์สินต่างๆ ไปจดทะเบียนเพื่อตราไว้เป็นหลักค้ำประกันแก่ผู้รับจำนอง แต่! จะไม่มีการโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินให้แก่ผู้รับจำนองโดยเด็ดขาด อีกทั้งผู้จำนองและผู้รับจำนองจะต้องดำเนินการจดจำนองต่อหน้าเจ้าพนักงาน ณ สำนักงานที่ดินตามเขตอำนาจที่ทรัพย์ตั้งอยู่เท่านั้น!
ใครบ้างที่สามารถเอาทรัพย์สินไปจดจำนองได้ ?
สำหรับคำถามนี้เราบอกได้เลยว่าผู้ที่มีสิทธิ์นำทรัพย์สินไปจำนองก็คือ “เจ้าของเท่านั้น” แต่ในกรณีที่เจ้าของทรัพย์สินไม่ว่าง ก็สามารถทำเอกสารมอบอำนาจแทนได้ ซึ่งถ้าหากไม่ใช่ 2 วิธีการนี้ สัญญาการจดจำนองจะกลายเป็นโมฆะในทันที! และที่สำคัญการทำสัญญาจดจำนองทรัพย์สินจะต้องทำต่อหน้าเจ้าหน้าที่กรมที่ดินเท่านั้น! ส่งผลให้การปลอมแปลงเอกสารต่างๆ ไม่ใช่เรื่องง่าย เพียงแต่มันอยู่ที่ปลายปากกาของคุณว่าจะเซ็นหรือไม่เซ็น
ทรัพย์สินที่สามารถจำนองได้
สิ่งที่คุณสามารถนำไปจำนองได้ก็คือ “อสังหาริมทรัพย์ที่คุณมีชื่อเป็นเจ้าของ” ไม่ว่าจะเป็น บ้าน ที่ดิน โรงงาน ฯลฯ สามารถนำไปจดจำนองได้ทั้งหมด
รายละเอียดที่คุณต้องจำให้ขึ้นใจก่อนเซ็นสัญญาจดจำนอง!
การจดจำนองจะไม่มีการโอนทรัพย์สินใดๆ ทั้งสิ้น
รายละเอียดในตัวสัญญาต้องระบุให้ชัดเจนว่า ผู้จำนอง (ผู้ขอกู้เงิน) จะทำการกู้เงินจาก ผู้รับจำนอง (ผู้ให้กู้) เป็นจำนวนเงินเท่าไร รวมถึงรายละเอียดของหลักทรัพย์ที่นำมาใช้ในการจำนองว่าคืออะไร ? ซึ่งถ้าหากไม่มีรายละเอียดส่วนนี้ในสัญญา การจดจำนองจะไม่สมบูรณ์
หากผู้จำนอง ไม่สามารถหรือไม่มีเงินมาชำระหนี้ได้ตามเวลาที่กำหนด ผู้รับจำนองสามารถยึดทรัพย์สินที่นำมาค้ำประกันได้เลยทันที แต่! จะมีการดำเนินกฎหมายในลำดับถัดไป
สิ่งที่ในสัญญาการจดจำนองต้องมี
รายละเอียดทรัพย์ ต้องมีการระบุไว้อย่างชัดเจน เช่น เลขโฉลดทที่ดิน หน้าสำรวจ
วันที่ทำสัญญาการจำนอง ต้องมีการระบุว่า หนังสือสัญญานี้ได้ทำเมื่อวันที่เท่าไร เดือนอะไร ปีอะไร และทำสัญญาที่ไหน
ต้องมีการระบุชื่อผู้ทำสัญญาในส่วนของผู้จำนองและผู้รับจำนอง
รายละเอียดข้อตกลงในสัญญา เช่น จำนวนเงินที่ทำการกู้ครั้งนี้ เป็นจำนวนเงินเท่าไร มีการคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเท่าไร กำหนดเวลาจ่ายหนี้เมื่อไรและจะต้องระบุจำนวนครั้งที่จะจ่ายดอกเบี้ยหากมีการผิดชำระหนี้
ชื่อผู้ถือโฉนดที่ดินระหว่างการจำนอง (เป็นเหมือนพยานผู้รับฝากทรัพย์)
การเซ็นสัญญาจดจำนอง จะต้องประกอบไปด้วย ผู้จำนอง ผู้รับจำนอง, พยาน 2 คน (ฝ่ายละคน), เจ้าพนักงานที่ดิน, ผู้เขียนสัญญาและผู้ตรวจสัญญา
รายละเอียดที่เรากล่าวไปนั้น คงพอจะทำให้คุณได้รู้จักและเข้าใจกับคำว่า “การจดจำนอง” มากยิ่งขึ้น! และสิ่งสำคัญที่เราอยากจะเน้นย้ำเลยก็คือ...ทุกๆ การเซ็นสัญญาจดจำนองนั้น คุณจะต้องอ่านรายละเอียดต่างๆ ให้ดี ตรวจเช็คให้รอบคอบ เพื่อที่จะได้ไม่มีปัญหาตามมาในภายหลัง เพราะถ้าเมื่อไหร่ที่คุณได้เซ็นไปแล้วนั้น อสังหาริมทรัพย์ที่คุณครอบครอง มันจะไม่ได้เป็นของคุณเหมือนเดิมแบบ 100% อีกต่อไป ดังนั้นอ่านรายละเอียดให้ชัดเจนทุกครั้งก่อนเซ็นสัญญา เราเตือนแล้วนะ!